xs
xsm
sm
md
lg

รพ.สมิติเวช ศรีราชา จัดประชาพิจารณ์ผลกระทบสวล. (ส่วนขยาย) ครั้งที่ 2 ผ่านฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประชาพิจารณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมส่วนขยายโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา ครั้งที่ 2 ผ่านฉลุย ประชาชนยังคงมั่นใจการก่อสร้าง และเปิดให้บริการอาคารหลังใหม่เป็นไปตามตามมาตรฐาน แม้ช่วงต้นการก่อสร้างจะกังวลเรื่องฝุ่นละออง และเสียงเครื่องจักร แต่เมื่อเปิดดำเนินการบางส่วนพบว่าไม่มีปัญหา



วันนี้ (26 ส.ค.) โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา จ.ชลบุรี จัดให้มีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อโครงการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาล (ส่วนขยาย) เพื่อขยายขอบข่ายการให้บริการทางการแพทย์ จากเดิม 138 เตียง เป็น 282 เตียง โดยมีโครงการขอาคาร C ซึ่งเป็นอาคารรักษาพยาบาล และอาคาร D ที่จอดรถ และหอพักพยาบาล รวมทั้งส่วนระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับอาคารจอดรถ และหอพักพยาบาล และลานจอดรถอีก 502 คัน

โดยจัดขึ้นที่อาคาร A ชั้น 4 มีหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชุมชน และประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบกว่า 100 คน เข้ารับฟังการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากคณะทำงานของโรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีนายวิชัย สัมพันธรัตน์ นายอำเภอศรีราชา เป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็น และมีนายแพทย์นพดล นพคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล่าวให้การต้อนรับ

นายแพทย์นพดล กล่าวว่า โรงพยาบาลได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536 ตั้งอยู่ใจกลางเขตการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ได้ริเริ่มให้บริการที่หลากหลาย เช่น คลินิกเด็ก ทันตกรรม และศูนย์สุขภาพ เพื่อดูแลสวัสดิภาพชุมชนใกล้เคียง และขณะนี้มีความจำเป็นต้องขยายโครงสร้างเพื่อรองรับการให้บริการทางการแพทย์ โดยจะขยายจำนวนเตียงในการให้บริการตึกใหม่ 144 เตียง ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2557

ขณะที่ รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ คณะศึกษาและทำงาน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1.ศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการดำเนินกิจกรรมของโรงพยาบาล 2.สำรวจลักษณะ คุณภาพ สถานภาพปัจจุบันของสิ่งแวดล้อมบริเวณโครงการ 3.ศึกษาแนวทางในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้าง และเปิดดำเนินการ พร้อมกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น 4.เพื่อเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

จากการศึกษาของคณะทำงาน พบว่า ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี แม้ในช่วงแรกของการจัดรับฟังความคิดเห็น จะได้รับเสียงสะท้อนเรื่องความกังวลใจเกี่ยวกับฝุ่นละออง และเสียงเครื่องจักรกล จนนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งเมื่อเปิดดำเนินการในพื้นที่บางส่วนแล้วความกังวลใจของประชาชนก็หมดไป

สำหรับบรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในการดำเนินงานของโรงพยาบาล ไม่มีการคัดค้านการก่อสร้างส่วนขยายแต่อย่างใด





กำลังโหลดความคิดเห็น