xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ สผ.ควรเร่งตรวจสอบ EIA โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ หวั่นประชาชนขาดความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการชี้การพิจารณารายงานอีไอเอโครงการ วอเตอร์ฟร้อนท์ฯ เมืองพัทยา มีหลายจุดบกพร่องผ่านการเห็นชอบได้อย่างไร แนะควรเร่งพิจารณาแก้ไข หวั่นประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการ

นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการ “Waterfront Suites & Residence Pattaya” จำนวน 315 ห้อง 53 ชั้น เมืองพัทยา ของบริษัท บาลีฮาย จำกัด ตั้งอยู่ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี (คชก.) เมื่อการประชุมครั้งที่ 3/2551 วันที่ 17 มีนาคม 2551 และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ)

โดยได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานทราบ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 โดยมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้อ 2.4.3 เรื่องสุนทรียภาพ และทัศนียภาพในรายงานฯ ระบุไว้ชัดเจนดังนี้

สภาพแวดล้อมโดยรอบโครงการนั้น อาคารโครงการมีความโดดเด่นจากพื้นที่ใกล้เคียง โดยบริเวณนรอบโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือแหลมบลีฮาย ห้างสรรพสินค้าบาลีฮายพลาซ่า อาคารพาณิชย์ขนาดความสูง 4 ชั้น และที่ว่างรอการใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ บริเวณด้านทิศใต้ของโครงการ เป็นเชิงเขาพัทยา (เขาพระตำหนัก) ซึ่งบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของเขาพระบาท อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และจุดชมวิวเมืองพัทยา โดยอาคารโครงการจะส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพต่อสถานที่ดังกล่าวเนื่องจากเป็นอาคารสูง

อย่างไรก็ตาม โครงการได้ตระหนักถึงผลกระทบด้านทัศนียภาพอยู่แล้ว จึงจัดให้มีพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด นอกจากนี้ ในการออกแบบของอาคารพยายามใช้สีที่กลมกลืนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทัศนียภาพมากนัก

ทั้งนี้ จะเห็นว่าโครงการนี้แม้แต่บริษัทที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานฯ ยังยอมรับว่าโครงการนี้มีผลกระทบต่อทัศนียภาพโดยรอบของเมืองพัทยาค่อนข้างมาก จึงไม่ทราบว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณเมืองพัทยา (คชก.) เห็นชอบไปได้อย่างไร

นายสนธิ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้าง จึงทำให้มีประชาชนออกมาต่อต้านจำนวนมาก ดังนั้น จึงเห็นควรที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ควรทำการตรวจสอบ และเร่งหามาตรการแก้ไขต่อไป เนื่องจากเป็นจุดบกพร่องของการพิจารณารายงานอย่างมาก และจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการ
กำลังโหลดความคิดเห็น