ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เผยเชียงใหม่-ลำพูนเหลือผลผลิตลำไยอีกประมาณ 20% ชี้ลำไยสดช่อไร้ปัญหา แต่ลำไยรูดร่วงราคาตก เหตุเตาอบเต็ม แนะชาวสวนดึงเวลารอเก็บเพื่อดันราคาซื้อขายให้เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด ขณะมาตรการแก้ไขระยะยาวเตรียมเสนอรัฐหนุนเกษตรกร-วิสาหกิจตั้งโรงอบแปรรูปลำไยเป็นของตัวเอง ตัดปัญหาถูกพ่อค้าเอาเปรียบกดราคา ตั้งเป้าทันใช้ปีหน้า
วันนี้ (19 ส.ค.) นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เปิดเผยการติดตามสถานการณ์การเก็บเกี่ยวลำไยในฤดูของ 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจผลไม้ภาคเหนือว่า ข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค. 57 ชาวสวนได้เก็บเกี่ยวผลผลิตและออกสู่ตลาดไปแล้ว 407,672 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 76.80 ของผลผลิตทั้งหมด 530,802 ตัน
โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เก็บเกี่ยวไปแล้ว 145,524 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.34 ของผลผลิตทั้งหมด 201,161 ตัน ขณะที่จังหวัดลำพูนเก็บเกี่ยวไปแล้ว 157,451 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.06 ของผลผลิตทั้งหมด 185,095 ตัน
สำหรับปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนจากราคาลำไยตกต่ำนั้น นายชาตรีระบุว่า ส่วนใหญ่พบเป็นปัญหาที่เกิดแก่ลำไยรูดร่วงเป็นหลัก เพราะในส่วนของลำไยสดช่อส่งออกและภายในประเทศนั้นไม่พบว่ามีปัญหา โดยยังคงมีราคาที่ดี
ขณะที่ลำไยรูดร่วงที่มีปัญหาก็เนื่องมาจากโรงอบลำไยแห้งเต็ม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับซื้อได้ เพราะหากรับซื้อไว้แล้วยังไม่ได้อบแห้งก็จะทำให้ลำไยเน่าเสีย จึงเป็นเหตุให้ชาวสวนไม่สามารถขายลำไยได้หรือขายได้ในราคาต่ำ
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แนะนำให้ชาวสวนลำไยชะลอการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคาดว่าราคาน่าจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นภายในช่วงหนึ่งสัปดาห์นี้อย่างแน่นอน เนื่องจากผลผลิตใกล้หมดแล้ว แต่ความต้องการยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นไปตามหลักกลไกตลาด ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับผู้ประกอบการรับซื้อเพื่อให้ชาวสวนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด
ส่วนมาตรการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น นายชาตรีบอกว่า เตรียมที่จะเสนอแนวทางลดพื้นที่การผลิตลำไยลงโดยโค่นต้นที่มีอายุเกิน 20 ปีทิ้ง พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตที่เน้นลำไยคุณภาพเป็นหลักเพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านราคา
พร้อมกันนี้จะมีการเสนอให้รัฐมีการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร, วิสาหกิจชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตั้งโรงอบลำไยและห้องเย็นเป็นของตัวเอง ตลอดจนมีการจัดหาตลาดรองรับควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองไม่ให้ชาวสวนลำไยเป็นฝ่ายเสียเปรียบเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะเร่งผลักดันมาตรการให้ทันใช้ภายในปีหน้า