พิษณุโลก - กลุ่มเครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่าภาคเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. 64/2557 และ 66/2557 ถูกรื้อ-ตัดสวนยางพารา บุกค่ายทหารกองทัพภาคที่ 3 ร้อง คสช.ให้ทบทวน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน
วันนี้ (14 ส.ค.) นายณัฐวุฒิ อุปปะ ผู้ประสานงานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง นำคณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด มาชุมนุมที่หน้าค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในการใช้สิทธิที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมี พล.ต.กิตติศักดิ์ แม้นเหมือน เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 3 และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 3 รับเรื่อง
นายณัฐวุฒิ อุปปะ ผู้ประสานงานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า การเดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้เพื่อต้องการช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สองฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร และป่าไม้ ในการตรวจยึดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานฯ คืนจากนายทุนอย่างเด็ดขาด ตามคำสั่ง คสช. 64/2557 และ 66/2557 แต่ก็ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
นายณัฐวุฒิบอกว่า เครือข่ายขอเรียกร้องดังนี้ 1. ให้มีการประสานการทำงานของฝ่ายนโยบายและคณะกรรมการภาคประชาชนที่มีสัดส่วนจากผู้เดือดร้อน ภาคีที่เกี่ยวข้อง NGO ในระดับภาคและระดับจังหวัด 7 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและลดประเด็นข้อพิพาทที่เกิดแก่ชุมชน และแนวทางการทำงานที่ดีที่สุดร่วมกัน
2. ยุติการจับกุมประชาชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง 3. ขอให้ชดเชยค่าเสียหายจากการถูกจับกุม และทำลายผลผลิตทางการเกษตร 4. นำข้อเสนอจากเครือข่าย และองค์กรชุมชน ภาคประชาชนที่ได้นำเสนอกับฝ่ายนโยบายในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น การรับรองสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชน, กฎหมายสิทธิชุมชน, กฎหมายการจัดการที่ดินคนจน กฎหมายสี่ฉบับ เป็นต้น มาเป็นบทวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบาย
และ 5. สนับสนุนกลไกการรับรองสิทธิการทำงานของชุมชนและชุดข้อมูลชุมชนที่มีการดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนที่ชุมชน การจัดทำแนวเขต การทำฐานข้อมูลในระบบ GIS เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิธีชุมชนพื้นที่การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
ทางคณะกรรมการเครือข่ายยืนยันว่า ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านกลุ่มที่ทำกินก่อนมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานเมื่อปี 2511 แทบทั้งสิ้น จะไม่มีการบุกรุกที่ดินเพิ่มเติมอย่างแน่นนอน
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายทหารได้รับเรื่องไว้พิจารณา เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาตามขั้นตอน โดยยืนยันจะดำเนินการยึดพื้นที่ป่าคืนจากนายทุน โดยไม่ให้ชาวบ้านในชุมชนเดิมต้องได้รับผลกระทบต่อไป สร้างความสบายใจให้แก่ชาวบ้านจึงสลายตัวกลับไปในเวลาต่อมา