เชียงใหม่ - พระสงฆ์ นักปรัชญา นักจิตแพทย์ ร่วมวงเสวนา “อุ้มบุญ หรือ อุ้มบาป” หลังพบเจตนาการอุ้มบุญในไทยกลายเป็นธุรกิจ ชี้หากมองชีวิตคนไม่เป็นชีวิต สังคมจะมีแต่ความวุ่นวาย
วันนี้ (13 ส.ค.) มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “การอุ้มบุญ หรือ อุ้มบาป” โดยมีพระสงฆ์มหาวิทยาลัยฯ, นักจิตแพทย์ และนักปรัชญา เข้าร่วมวงเสวนา หลังมีกระแสข่าว “น้องแกรมมี่” ทำให้มีประเด็นน่าวิเคราะห์ทั้งด้านกฎหมาย จรรยาบรรณแพทย์ รวมทั้งเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม
รศ.รอ.นายแพทย์ไพรัตน์ พฤษชาติคุณากร จิตแพทย์และผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ในอดีตการอุ้มบุญเป็นการบริจาคสเปิร์มโดยไม่มีสิ่งตอบแทน แต่จะบริจาคให้แก่ญาติฝ่ายภรรยา หรือผู้สืบสายเลือดเดียวกันที่ไม่สามารถมีบุตรได้แต่ประสงค์จะมีบุตรเท่านั้น ถือเป็นการสงเคราะห์สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ แต่ปัจจุบันถือว่าน่าห่วง เนื่องจากเป็นการทำเพื่อการค้า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
“ขณะนี้นักธุรกิจญี่ปุ่น ที่ว่าจ้างหญิงไทยอุ้มบุญ เป็นเรื่องของการค้า ไม่ได้เกิดจากความรัก ความผูกพันพ่อแม่ลูก และเป็นอันตราย ที่อาจนำลูกไปเป็นเครือข่าย ดูแลธุรกิจทั่วโลก เห็นคนเป็นสินค้า ที่มีการซื้อขายกันได้”
ขณะที่ ผศ.ดร.ปรุตน์ บุญศรีตัน อาจารย์ประจำภาควิชาศานาและปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า การอุ้มบุญ สู่ธุรกิจอุ้มบุญ จากวัตถุนิยม กลับกลายเป็นเห็นคนไม่เป็นคน ลืมจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ไม่ยอมรับความจริงตามธรรมชาติ ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา
ด้าน พระครูธีรสุตพจน์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ มองว่า การอุ้มบุญเป็นบาปกรรมของการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อเด็กที่คลอดออกมาแล้วไม่สมประกอบ ผู้ที่จ้างอุ้มบุญก็จะไม่ยอมรับสินค้านั้น
“หากสังคมมองคนเป็นธุรกิจซื้อ-ขายกันได้ยิ่งน่ากลัว บางรายฝากท้องเพียง 7 เดือน โดยไม่ผ่านการคลอดแล้วนำเซลล์มาใช้เพื่อเสริมความงามยิ่งบาปหนัก”
ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าว ทุกฝ่ายสรุปว่า การอุ้มบุญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือว่าเป็นการ “อุ้มบาป” มากกว่า