เพชรบุรี - คณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการจ้างฯ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพชรบุรี เข้าตรวจกิจการประมงทะเลเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก ที่ท่าเทียบเรือสหกรณ์ประมงบ้านแหลม
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่ท่าเทียบเรือสหกรณ์ประมงบ้านแหลม คณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน เเละการค้ามนุษย์ด้านเเรงงานในกิจการประมงทะเล นำโดยนายทำนุก สัมมาวิริยา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยประกันสังคมจังหวัด แรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด ผกก.สภ.บ้านแหลม ประมงอำเภอ เจ้าท่า ตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจน้ำ
ได้ร่วมกันเข้าตรวจสถานประกอบกิจการประมงทะเล เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก โดยมีนายบุญยง นิ่วบุตร นายกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม และผู้ประกอบการประมงให้ความร่วมมือนำเข้าตรวจสอบบนเรือประมงที่กลับเข้าฝั่งจากการหาปลา หรือสัตว์ทะเล
นายทำนุก สัมมาวิริยา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า การตรวจสอบครั้งนี้เป็นนโยบายในการทำงานเชิงรุกของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ออกตรวจสถานประกอบการประมงทะเลเพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายปราบปรามการค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าวด้วย
“ในจังหวัดเพชรบุรี ยังไม่เคยเจอปัญหา แต่ที่อื่นมีปัญหาการทำร้ายร่างกายแรงงาน เพราะที่จังหวัดเพชรบุรี ทางภาครัฐได้ประสานกับนายกสมาคมประมงตลอดเวลา โดยเท่าที่ดูในวันนี้ได้เห็นสภาพว่าเป็นเรือที่มีแรงงานเพียง 6-7 คน แต่ตามกฎหมายเรามีหน้าที่ดูแลกิจการประมงที่มีลูกเรือ 20 คนขึ้นไป จึงกำชับทางนายกสมาคมประมงให้เจ้าของเรือดูแลความเป็นอยู่ของลูกเรือให้ได้รับอาหารครบหมู่ และมีการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรม โดยส่วนใหญ่แรงงานประมงจะเป็นชาวพม่า กัมพูชาก็มีบางส่วนแต่น้อยกว่า” นายทำนุก กล่าว
นายบุญยง นิ่วบุตร นายกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม กล่าวว่า อำเภอบ้านแหลม มีเรือประมงประมาณ 200 กว่าลำที่เป็นเรือประมงพาณิชย์ การค้ามนุษย์ หรือทำร้ายลูกน้องไม่มี ปัญหาจะเป็นเรื่องลูกเรือประมงจะย้ายไปทำงานลำอื่นบ่อย ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงขนาดกลางมีลูกเรือ 6-7 คน ขนาดใหญ่หน่อยมีลูกเรือประมาณ 12-13 คน เป็นเรืออวนลาก การดูแลลูกเรือเป็นปกติ มีการดูแลมียารักษาไข้ หากเป็นมากก็ส่งโรงพยาบาล
“สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือ เรื่องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งบางคนมีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว ก็มีนายจ้างพาไปจดทะเบียนที่ศูนย์ ONE STOP SERVICE ด้วย ส่วนปัญหาที่หนักใจคือ การผิดนายจ้าง กล่าวคือ แรงงานเดือนนี้ทำงานกับนายจ้างคนหนึ่ง เดือนต่อไป ไปทำกับอีกคนหนึ่ง จึงอยากให้มีการแก้ไขเกี่ยวกับการอนุญาตทำงานให้ลูกเรือมีบัตรอนุญาตทำงานของตนเอง และทำงานกับเจ้านายคนไหนก็ได้ ไม่ผู้ขาดนายจ้าง หากแก้กฎหมายเรื่องนี้ได้จะเป็นประโยชน์มาก” นายบุญยง กล่าว