ศรีสะเกษ - รองผู้ว่าฯ เผย คสช.หนุน จ.ศรีสะเกษเร่งพัฒนา “เมืองใหม่ช่องสะงำ” ยกระดับเป็นประตูการค้าชายแดนไทย-กัมพูชารองรับ AEC หลังก่อสร้างเสร็จและปล่อยทิ้งร้างมากว่า 10 ปี
วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เมืองใหม่ช่องสะงำ ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ลงพื้นที่เพื่อติดตามการจัดระเบียบในการเปิดเมืองใหม่ช่องสะงำ ซึ่งขณะนี้การดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่ ทั้งในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับประชาชนที่จะย้ายเข้ามาอยู่อาศัยตามมติที่ประชุมของทางจังหวัดศรีสะเกษ กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้การพัฒนาเมืองใหม่ช่องสะงำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุริยะกล่าวว่า หลังจากที่จังหวัดศรีสะเกษได้มีประกาศให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตลาดชั่วคราวช่องสะงำจุดเดิม ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ให้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองใหม่ช่องสะงำ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ของทางกรมป่าไม้ และเพื่อเป็นการจัดสรรพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาให้เป็นระเบียบ ตลอดจนพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่ช่องสะงำ ซึ่งได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จมานานกว่า 10 ปี ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
แต่จากการดำเนินการดังกล่าวได้เกิดปัญหาอุปสรรคในหลายด้าน ประกอบกับมีประชาชนบางส่วนที่ขัดขืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทำให้การพัฒนาเมืองใหม่ช่องสะงำยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
นายสุริยะกล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นด้วยกับทางจังหวัด พร้อมทั้งมีมติในที่ประชุมให้ทางจังหวัดสำรวจความพร้อมของพื้นที่เมืองใหม่ช่องสะงำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2557 เพื่อรองรับประชาชนตามแนวชายแดนที่จะเข้ามาอยู่อาศัย โดยให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตลาดช่องสะงำจุดเดิม ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองใหม่ช่องสะงำ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไป
“หากประชาชน ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม ทางจังหวัดจะมีมาตรการในการผลักดันตามระเบียบ เพื่อให้การจัดสรรพื้นที่ และการพัฒนาตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำเดินหน้า ตามแผนที่ได้วางเอาไว้ โดยมั่นใจว่าพื้นที่ 916 ไร่ของเมืองใหม่ช่องสะงำจะเป็นพื้นที่การลงทุนและการค้าแหล่งใหม่ตามแนวชายแดนของพ่อค้าแม่ค้าและเป็นแหล่งเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้ประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ และผู้เข้ามาลงทุนได้อย่างแน่นอน” นายสุริยะกล่าว