เชียงใหม่ - จังหวัดตั้งโต๊ะหารือ เตรียมเดินหน้าขอคืนพื้นที่ริมฝั่งน้ำปิง เริ่ม 7 ช่วงแรกระยะ 20 กม. ตั้งแต่สะพานป่าตัน-วัดเจดีย์เหลี่ยม หวังขยายน้ำปิงให้ได้ 90 เมตรตลอดแนว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า นายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเจรจาขอคืนพื้นที่บุกรุกเพื่อขุดขยายแม่น้ำปิง ป้องกันน้ำท่วมซ้ำซาก ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำปิงและลำน้ำอื่น ตามคำสั่งของคณะทำงานจัดทำแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำซาก มีแผนที่จะขยายน้ำปิงให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เมตร ช่วงเหนือสะพานนวรัฐขึ้นไป 10 กิโลเมตร และท้ายสะพานลงมา 10 กิโลเมตร
โดยเร่งแก้ไข 7 ช่วงสำคัญเป็นลำดับแรก ได้แก่ 1. สะพานป่าตัน ถึงสะพานรัตนโกสินทร์ 2. สะพานรัตนโกสินทร์ ถึงสะพานนครพิงค์ 3. สะพานนครพิงค์ ถึงโรงแรมเพชรงาม 4. โรงแรมเพชรงาม ถึงวัดชัยมงคล 5. วัดชัยมงคล ถึงโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกประถม 6. โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกประถม ถึงฝายหนองผึ้ง และ 7. ฝายหนองผึ้ง ถึงวัดเจดีย์เหลี่ยม รวมระยะทางตลอดทั้ง 7 ช่วงประมาณ 20 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขุดลอกขยายแม่น้ำปิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ภายใต้เป้าหมายขยายความกว้างให้ได้ไม่ต่ำกว่า 90 เมตร จากปัจจุบันที่ความกว้างหลายจุดไม่ถึงเกณฑ์ บางจุดกว้างเฉลี่ย 50 เมตรเท่านั้น
โดยแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมระดับจังหวัด คณะทำงานระดับอำเภอ และช่างสำรวจจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ส่วนระยะยาวทำแผนพัฒนาให้ชัดเจนทั้งสองฝั่ง รวมทั้งเสนอเป็นวาระสำคัญของจังหวัด
นายชนะกล่าวว่า จะประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดกับทางอำเภอ และกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เหมือนกัน โดยอำเภอต้องเริ่มสำรวจตามผังที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) ได้สำรวจ และยืนยันภาพถ่ายทางอากาศที่มีการรับรองอย่างถูกต้องให้กับทางอำเภอ และตรวจสอบพิกัดในแผนที่ เชิญผู้ที่บุกรุกมาเจรจา หากเจรจาไม่ได้ผลค่อยบังคับใช้กฎหมายต่อไป
ทังนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงพื้นที่ช่วงที่อาจจะต้องทำการเจรจาหรือขอคืนพื้นที่ โดยได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายถึงปัญหา เนื่องจากหลายจุดอยู่เป็นย่านชุมชนและตัวเมือง ซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัย และมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก การขอให้รื้อถอนหรืออพยพออกจากพื้นที่อาจยุ่งยาก และใช้เวลานาน