xs
xsm
sm
md
lg

ชาวแสงภา ร่วมหล่อเทียนโบราณถวายเข้าพรรษา สืบแต่บรรพบุรุษนานกว่า 400 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลย - ชาวแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย หล่อเทียนโบราณถวายพระเนื่องในวันเข้าพรรษา เผยเป็นประเพณีโบราณสืบสานแต่บรรพบุรุษนานมากว่า 400 ปี

วันนี้ (11 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดศรีโพธิ์ชัย ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย ชาวบ้านในตำบลแสงภา ได้ร่วมกันหล่อเทียนพรรษากันทั้งหมู่บ้านกว่า 500 คน เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงามที่ตกทอดสู่ลูกหลานมากว่า 400 ปี

นายสมบัติ ชิดทิด กำนันตำบลแสงภา และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอนาแห้ว กล่าวถึงการถวายเทียนพรรษาว่า เป็นประเพณีใหญ่ของชาวพุทธ เข้าพรรษาหมายถึงวันที่เหล่าพระสงฆ์จะต้องอยู่จำพรรษากับวัด ไม่สามารถเดินทางไปนอนค้างอ้างแรมที่ไหนได้โดยไม่มีเหตุอันควร พูดแบบชาวบ้านคือ ต้องอยู่เป็นที่เป็นทาง

เมื่อครั้งพุทธกาล พระสงฆ์นั้นไม่มีวัดอยู่ ในพุทธบัญญัติห้ามมิให้พระสงฆ์ถือครองที่ดิน ไม่ต้องมีบ้าน แม้แต่อาหารก็สะสมไม่ได้ ต้องเป็นพระรุกขมูล หมายถึงพระที่ต้องอาศัยโคนไม้เป็นที่พึ่ง คือพระธุดงค์นั่นเอง

การเป็นพระธุดงค์ก็ต้องจาริก หรือเดินทางไปทั่ว แล้วก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อพระธุดงค์เที่ยวเดินไปเหยียบย่ำข้าวในนา เมื่อชาวนาได้รับความเดือดร้อน ข้าวในนาได้รับความเสียหาย จึงนำความไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงทราบ จึงได้มีพระวินัยออกมาบังคับนับแต่นั้น ให้พระสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษาในช่วงฤดูฝน หรือช่วงการทำนานั่นเอง

ในอดีต บ้านแสงภา เป็นเมืองป่าแดนเถื่อน ติดต่อโลกภายนอกยาก แต่แม้บ้านแสงภาจะมีอายุยืนยาวถึง 400 ปี แต่บ้านแสงภา ก็มีการสร้างวัดให้เป็นศูนย์รวมของชุมชนตั้งแต่แรก เพียงแต่ใช้วัดเพื่อประกอบศาสนกิจเท่านั้น

แต่ด้านการเรียนรู้แนวทางปฏิบัติในเชิงลึกไม่ได้ทำกัน เมื่อได้ไปพบประเพณีการหล่อเทียนพรรษา เชื่อได้เลยว่า คงทำกันมานับร้อยปี มีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะทำตั้งแต่มีการสร้าง “วัดศรีโพธิ์ไชย” วัดของชาวแสงภานั่นเอง

เสน่ห์ของเทียนพรรษาที่นี่ ไม่ใช่ความวิจิตรพิสดาร อลังการงานสร้าง ชาวบ้านแสงภา หล่อเทียนพรรษาถวายวัดศรีโพธิ์ไชยแบบตามมีตามเกิด

ซึ่งนี่คือวิถีชีวิตจริง ไม่ใช่การแสดงบิดเบือนวัฒนธรรมและประเพณี วันนี้คือวันที่ผู้คนชาวแสงภาทั้งหมู่บ้านต้องไปวัด ซึ่งไม่มีระเบียบบังคับอย่างกฎหมาย แต่เป็นระเบียบทางสังคมที่ต่างพร้อมใจกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น