ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลตำบลวิชิต จ.ภูเก็ต สืบสานประเพณีเข้าพรรษา ประจำปี 2557 จัดแห่เทียนพรรษาถวายวัด ร่วมสืบสานประเพณีอันดีงาม
เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (10 ก.ค.) ได้มีขบวนแห่เทียนพรรษา โครงการสืบสานประเพณีเข้าพรรษา ประจำปี 2557 ของเทศบาลตำบลวิชิต นำขบวนแห่โดย นายกรีฑา โชติวิชิญ์พิพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างเทศบาลฯ และประชาชาวตำบลวิชิต ขบวนแห่ได้เคลื่อนออกจากที่ตั้งบริเวณประตูหลังสวนสุขภาพเทศบาลนครภูเก็ต (สวนหลวง) เคลื่อนไปตามเส้นทางถนนวิรัชหงส์หยกอุทิศ มุ่งสู่วัดนาคาราม ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต เพื่อประกอบพิธีถวายเทียนพรรษาให้แก่ทางวัดต่อไป
นายกรีฑา โชติวิชิญ์พิพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต กล่าวว่า ทางเทศบาลตำบลวิชิตได้กำหนดจัดโครงการสืบสานประเพณีเข้าพรรษา ประจำปี 2557 เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีให้อยู่คู่ท้องถิ่น เป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นหลังในการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติและศาสนา รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน
โดยทางเทศบาลตำบลวิชิต ได้กำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 9 กรกฎาคม และ 10 กรกฎาคม 2557 โดยในวันที่ที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้จัดให้มีขบวนรถแห่เทียนพรรษา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญ และในวันนี้ (10 ก.ค.) เป็นการแห่เทียนพรรษาเพื่อนำเทียนพรรษาดังกล่าว รวมถึงปัจจัยที่ประชาชนพร้อมใจกันบริจาคไปถวายให้แก่ทางวัดฯ นายกรีฑา กล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับวันเข้าพรรษานั้น เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นประเพณีสืบทอดมาตั้งแต่โบราณ โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 และเมื่อวันเข้าพรรษามาถึงสิ่งที่ชาวพุทธจะยืดถือปฏิบัตินั่นก็คือ การถวายเทียนพรรษา และถวายผ้าอาบน้ำฝนนั่นเอง
ถวายเทียนพรรษา มีความสำคัญอย่างไรในประเทศไทย การถวายเทียนเข้าพรรษา จัดเป็นพิธีใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยรัตนโกสินทร์ การถวายเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยจะเรียกว่าพุ่มเทียนมีการพระราชทานถวายพุ่มเทียนรวมถึงโคมเพื่อจุดบูชาตามอารามต่างๆ ทั้งในพระนคร และหัวเมือง ซึ่งพิธีนี้ยังคงมีมาจนปัจจุบัน
ในอดีต การหล่อเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวพุทธจะมารวมตัวกันนำขี้ผึ้งมาหลอมรวมเป็นแท่งเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ แต่ในปัจจุบัน ชาวพุทธส่วนใหญ่จะนิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์ โดยบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสืออีกแล้ว พระสงฆ์คงนำเทียนไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น
ขณะที่การถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งาม และเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย “ผ้าวัสสิกสาฏก” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน