ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- กรมการท่องเที่ยวระดมความเห็นร่างมาตรฐานการบริการรถบัสทัศนาจร หวังให้ได้มาตรฐานปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติหมู่ซ้ำรอย ระบุแค่ 3 เดือนปีนี้รถนำเที่ยวประสบอุบัติเหตุเกือบ 30 ครั้ง สาเหตุหลักเกิดจากพนักงานขับรถ และคุณภาพรถไม่ได้มาตรฐาน ขณะผู้ประกอบการอีสานเผยยังไม่พร้อม เหตุต้องใช้เงินทุนสูง
วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ห้องประชุมปริ๊นเซส 2-4 โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายอักษร แสนใหม่ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างมาตรฐานการบริการรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว จัดโดยกรมการท่องเที่ยว ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากนัก มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึง 50 คน
ทั้งนี้เพื่อจัดทำร่างมาตรฐานการบริการรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย เพื่อกำหนดปัจจัยตัวชี้วัดและเกณฑ์มาตรฐานการบริการรถโดยสารฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทางท่องเที่ยว
นายอักษรเปิดเผยว่า สำนักพัฒนาบริการท่องเที่ยวกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในการพัฒนาและจัดทำมาตรฐานการบริการรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในการเลือกใช้บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีการเกิดอุบัติเหตุจากรถบัสทัศนาจรหลายครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนมหาศาล
ทั้งนี้ จากสถิติกรมการขนส่งทางบกปี 2557 มีการเกิดอุบติเหตุของรถโดยสารสาธารณะในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2557 จำนวน 29 ครั้ง เป็นรถโดยสารชั้นเดียวจำนวน 23 ครั้ง และรถโดยสารสองชั้น 6 ครั้ง สาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยด้านพนักงานขับรถ เช่น การขับรถเร็วลงพื้นที่ลาดชัน ไม่ชำนาญทาง สภาพร่างกายไม่พร้อม หลับใน แซงในระยะกระชั้นชิด การตรวจเตรียมความพร้อมของรถ เป็นต้น
สาเหตุรองคือ คุณภาพของตัวรถ และสภาพแวดล้อม เช่น เบรกแตก ถนนลื่น เสียหลักการทรงตัว ทางโค้ง เป็นต้น
โดยในที่ประชุมมีการถกเถียงกันหลายประเด็น ทั้งเรื่องการให้มีการติดตั้งเครื่องเล่นคาราโอเกะ มีไฟแสงสีในรถว่าจะมีผลต่อความปลอดภัยผู้โดยสารหรือไม่ ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรฐาน เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนอีกมากหากให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด
ด้าน ดร.เอกฉัตร ตันศิริ หัวหน้าภาควิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะทำงานจัดทำร่างมาตรฐานฯ กล่าวว่า ได้จัดประชุมสัมมนาวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลและหน่วยงานรวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียกับร่างดังกล่าวในพื้นที่ภาคเหนือมาแล้ว และวันนี้มารับฟังความเห็นที่ภาคอีสาน จากนี้จะเดินทางต่อไปยังภาคใต้
จากนั้นคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะนำข้อมูลทั้งหมดสรุปรวมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาดำเนินการจัดทำร่างต่อไป ส่วนประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ได้รับการนำเสนอจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทีมงานจัดทำร่างฯ จะนำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป