ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชาวบ้านลุ่มน้ำชีที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนัดถกสรุปบทเรียนการแก้ปัญหา ย้ำ 2 รัฐบาลที่ผ่านมาไม่จริงจังช่วยชาวบ้าน เอาแต่ยื้อเรื่อง ทำให้ต้องเผชิญน้ำท่วมซ้ำซาก เตรียมยื่นหนังสือ คสช.ช่วยคืนสุขให้ชาวบ้าน
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่วัดบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ในลุ่มน้ำชี ประมาณ 70 คน นัดประชุมหารือกระบวนการแก้ปัญหาช่วง 2 รัฐบาลที่ผ่านมาว่ายังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งครั้งนี้มีชาวบ้านจาก อ.ทุ่งเขาหลวง อ.อาจสามารถ อ.เสลภูมิ อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด และ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ร่วมลงมติยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านค่ายทหารในจังหวัด เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา
นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชี อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมมาเป็นเวลานานแล้ ง แต่ยังติดที่กระบวนการแก้ปัญหาซึ่งไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำชีเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมขังซ้ำซาก
“วันนี้พวกเราได้มารวมตัวกันเพื่อหามติ และจัดทำข้อเสนอเพื่อเตรียมยื่น คสช.ผ่านค่ายทหารในจังหวัดร้อยเอ็ดต่อไป”
นายบัว สาโพนทัน กล่าวว่า ในเมื่อกระบวนการแก้ปัญหาที่ผ่านมายังไม่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน พวกเราจึงมีความเห็นต่อที่ประชุมว่าควรที่จะนำปัญหาเสนอต่อ คสช.ตามข้อเสนอของกลุ่ม คือ 1. ให้แก้ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี 2. ให้จ่ายค่าชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน 3. ให้ฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำชี
นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันที่กำลังสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง และคืนความสุขให้แก่ประชาชน คงเป็นอีกโอกาสหนึ่งของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะได้นำปัญหาและข้อเสนอของชาวบ้านยื่นให้ คสช.ร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง
เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำการเรียกร้องสิทธิ์เพื่อให้รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน และได้รับการแก้ไข แต่มีเพียงแต่งตั้งคณะกรรมการยื้อเวลา ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถที่จะเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายได้ ช่วงนี้เป็นเวลาคืนความสุขให้แก่ประชาชนแล้ว ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงอยากเห็นการคืนความสุขให้ชาวบ้านบ้าง โดยการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมตามที่ชาวบ้านได้นำเสนอ
ทั้งนี้ โครงการโขง-ชี-มูล เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่สร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ควบคุมทิศทางการไหลของน้ำ และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ มีประตูระบายน้ำตามลำห้วย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งชุมชนสองฝั่งแม่น้ำชี โดยน้ำท่วม 3-4 เดือนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนโดยตรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม