xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาลุ่มน้ำชีโอด เขื่อนต้นเหตุทำน้ำท่วมซ้ำซาก แนะบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ ดึงชุมชนเข้าร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร้อยเอ็ด - ชาวบ้านลุ่มน้ำชีโอด โครงการสร้างเขื่อนทำน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรซ้ำซาก หน่วยงานรัฐเมินแก้ปัญหาต้นเหตุ มุ่งแต่จัดการปัญหาที่ปลายเหตุ แนะบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยให้ชาวชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น แนวทางเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือกับพิบัติภัยด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งทางกรมจะได้จัดสัมมนา 12 ครั้ง ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ใน จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และยโสธร

โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรลุ่มน้ำ หรือเครือข่าย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำครั้งละประมาณ 40 คน ทั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชน เสริมสร้างขีดความสามารถ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการพิบัติภัย ซึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำได้จัดขึ้น

นายบุญจันทร์ สาระกรม กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติ จริงๆ เกิดจากมนุษย์สร้างสิ่งกีดขวางลำน้ำ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี เช่น เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ทำให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านต้องกลายเป็นที่เสี่ยงน้ำท่วม ที่ผ่านมา พวกเราก็เคยเสนอปัญหาเหล่านี้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา วันนี้ก็มาเข้าร่วมเวทีกับหลายภาคส่วน แต่ก็มุ่งเน้นไปที่การจัดการปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าเรายังไม่มองที่ต้นเหตุ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำชีคงจะแก้ยากขึ้นเพราะต่างคนต่างทำ

“ถ้าจะแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมควรเริ่มที่ต้นเหตุ ต้องบริหารจัดการเขื่อน เพราะเขื่อนคือต้นเหตุของปัญหา โดยการเปิดประตูเขื่อนเพื่อแขวนทุกบานในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เพื่อเป็นการพร่องน้ำ และเตรียมรองรับน้ำฝนที่กำลังจะมา”

ด้าน นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วม เกิดจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่ขาดความเข้าใจทิศทางการไหลของน้ำ และขาดความเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า เขื่อนถูกสร้างขึ้นมาปิดกั้นแม่น้ำเป็นทอด และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริง น้ำก็ยังถูกควบคุมโดยเขื่อนเป็นผู้กำหนดในการเปิดปิดบานประตูน้ำ

“ทุกวันนี้ชาวบ้านเห็นว่าปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร รัฐควรให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านตามข้อเสนอชาวบ้าน ไม่ใช่จะเดินหน้าจัดเวทีเพื่อหาโครงการใหม่”

กำลังโหลดความคิดเห็น