xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.ตากเดินหน้าจัดระเบียบชายแดน หนุนค้าแม่สอด-เมียวดีโต 5.5 หมื่นล้าน/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - คณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชนตาก เดินหน้าจัดระเบียบชายแดนไทย-พม่า หนุนการค้า การลงทุน ตั้งเป้าดันยอดการค้าโต 5.5 หมื่นล้านต่อปี

นายสมชัยฐ์ หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงแนวทางพัฒนาการค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านด่านแม่สอด-เมียวดี ว่า คณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดตาก จะจัดระเบียบการค้าชายแดนในทุกประเด็น ทั้งด้านระบบลอจิสติกส์ แรงงาน การบริหารการจัดการแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น

โดยแนวทางการจัดระเบียบชายแดนจะดำเนินการทั้งระบบ เช่น การจัดสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำพิธีการทางศุลกากร เพราะปัจจุบันมีรถบรรทุกสินค้ามาจอดข้างทาง ส่งผลต่อการจราจรในพื้นที่ การปรับปรุงสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 ตลอดจนการเร่งผลักดันสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว รองรับการขึ้นทะเบียน และการเข้า-ออกของแรงงานแบบเช้ามาเย็นกลับ

นอกจากนี้ยังจะเร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งท่องเที่ยวบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ EWEC ตลอดสาย จนถึงร่วมพัฒนาเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก บูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านการขนส่งอย่างจริงจัง ทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร พาณิชย์ การท่องเที่ยว ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครอง

“ปัจจุบันด่านแม่สอดมีการค้าคึกคัก โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 26,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่ามูลค่าการค้าทั้งนำเข้า-ส่งออกตลอดปีนี้จะทะลุถึง 55,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 4,500-5,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเดือนเฉลี่ยละ 1,000-1,200 ล้านบาท”

นายสมชัยกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ด่านแม่สอด-เมียวดีมีการส่งออกขยายตัวโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากชาวพม่ามีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะนิยมชมชอบสินค้าไทย นอกจากนี้ระบบการคมนาคมรวมทั้งลอจิสติกส์ เริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนามากขึ้น ทำให้การค้าขายมีความคล่องตัว แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นฤดูฝนที่ปกติการส่งสินค้าจะชะลอตัว แต่ช่วงนี้สินค้ายังคงแน่นสะพานมิตรภาพไทย-พม่า

ดังนั้นการจัดระเบียบการค้าชายแดนจะเป็นการเข้าสู่ระบบสากล เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน ทั้งด้านการค้า พาณิชย์ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว



กำลังโหลดความคิดเห็น