ศูนย์ข่าวศรีราชา - แนวโน้มการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ตราด ยังโตต่อเนื่อง แม้รัฐบาลกัมพูชาจะเข้มงวดเรื่องมาตรฐานสินค้านำเข้ามากขึ้น จนอาจกระทบต่อการส่งออกของไทย
นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ นายด้านศุลกากรคลองใหญ่ จ.ตราด เปิดเผยถึงภาวะการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ด่าน อ.คลองใหญ่ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า เติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขการค้าปี 2554 ที่เติบโตขึ้นจากปี 2553 ถึง 20% ส่วนยอดการค้าปี 2555 ก็เติบโตจากปี 2554 ประมาณ 8% จะมีเพียงปี 2556 ที่มียอดเติบโตทางการค้าเพียง 3.6%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การค้าชายแดนด้าน จ.ตราด ในปี 2556 เติบโตไม่สูงนักเพราะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ของกลุ่มนักลงทุนชาวไทยที่ขยายเข้าไปในกัมพูชาเริ่มเข้าที่ นำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ก่อสร้างลดลง
ต่างจากปี 2554 ที่เริ่มเปิดนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ซึ่งมีการขยายการลงทุน และการก่อสร้างโรงงานต่างๆ ในกัมพูชาค่อนข้างมาก จนทำให้ตัวเลขการนำเข้าเครื่องจักรกล และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างต่างๆ เติบโตตาม
ขณะที่สถิติการนำเข้า-ส่งออก บริเวณด่านการค้าชายแดนจังหวัดตราดปี 2556 (ตุลาคม 2555 ถึงกันยายน 2556) มีมูลค่าการค้าโดยรวม 2.67 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าส่งออก 2.54 หมื่นล้านบาท นำเข้า 1.23 พันล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ คือ น้ำตาลทราย สินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องดื่มต่างๆ
ส่วนสินค้านำเข้าอันดับ 1 คือ ชุดสายไฟสำเร็จรูป และน้ำตาลโมลาส ที่เป็นผลผลิตจากการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาล ของกลุ่มนักลงทุนไทยในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง และได้ส่งสินค้ากลับเข้ามาขายในประเทศไทยมากถึง 90% ของมูลค่าสินค้านำเข้าทั้งหมด
โดยมูลค่าการค้าชายแดนในปีงบประมาณ 2557 ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2556 ถึงมีนาคม 2557) มีมูลค่ารวมกว่า 1.36 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินค้านำเข้ากว่า 1,000 ล้านบาท โตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีประมาณ 500 กว่าล้านบาท อยู่ที่ 88.27%
สวนทางกับมูลค่าสินค้าส่งออกที่มีเพียง 1.26 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีประมาณ 1.31 หมื่นล้านบาท หรือ 3.80%
นายกิตติ กล่าวว่า มูลค่าการค้าชายแดนด้าน จ.ตราด ปี 2557 ยังคงมีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของรัฐบาลกัมพูชา หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เน้นการสร้างรายได้จากด้านศุลกากรเป็นสำคัญ อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าได้น้อยลง ขณะที่การเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าหลายประเภทของผู้ประกอบการไทยในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกงเริ่มอยู่ตัว และเริ่มผลิตสินค้าส่งกลับมาขายในไทยได้แล้ว ซึ่งก็อาจทำให้ตัวเลขการนำเข้าของไทยสูงขึ้นกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา