ลำปาง - ผู้นำชุมชนในอำเภอแม่เมาะระดมชาวบ้านรวมตัวถวายฎีกาขอความเป็นธรรม กรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลบุกรุกป่าสงวน
วันนี้ (7 ก.ค.) นายสว่าง จาคำมา นายก อบต.จางเหนือ นายมนตรี จำปาคำ กำนันตำบลนาสัก นายคำเภา บุญมา ผญบ.ม.5 ต.แม่เมาะ และนายวิช อินจันทร์ ผญบ.ม.7 ต.นาสัก ซึ่งเป็น 4 ผู้นำชุมชนใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ 50 คน รวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ จากนั้นได้ร่วมกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นถวายฎีกาขอความเป็นธรรม
กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดในคดีละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง คือ อ่างกิ่วข้าวหลาม อ่างเก็บน้ำปงชัย อ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หล่วง ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อ.แม่เมาะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้รวม 15 คน
ประกอบด้วย 1. นายดิเรก ก้อนกลีบ ครั้งดำรงตำแหน่ง ผวจ.ลำปาง 2. นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่ง นอภ.แม่เมาะ 3. นายประสาน ฝ่ายคำมี ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอแม่เมาะ 4. นายมงคล ธงสิบเจ็ด ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 17 (แม่จางตอนขุน) 5. นายถนอม โพธิวิจิตร ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 38 (ท่าสี)
6. นายอำนวย ศรีบุญชู ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 6 ทำหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) 7. นายธนชาติ มังกิตะ ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลำปาง 8. นายสุทัศน์ กสวิชัย ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 17 (แม่จางตอนขุน) 9. นายสว่าง จาคำมา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบต.จางเหนือ 10. นายพิสิฐ ทักษิณาพิมุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบต.นาสัก
11. นายมนตรี จำปาคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกำนันตำบลนาสัก 12.นายปรีดา ผลดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผญบ.ม.4 ต.บ้านดง 13. นายคำเภา บุญมา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผญบ.ม.5 ต.แม่เมาะ 14. นายวินัย ตันใจ ผญบ.ม. 3 ต.จางเหนือ และ 15. นายวิช อินจันทร์ ผญบ.ม.7 ต.นาสัก
โดยเบื้องต้นได้มีการส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97
ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนทั้ง 4 คนระบุว่า ที่ผ่านมาทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะรัฐบาลไม่มีงบสนับสนุนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้ ทั้งที่เป็นความต้องการของประชาชน เมื่อกฟผ.ได้สนับสนุนงบประมาณ และทางชุมชนก็ได้ทำประชาพิจารณ์ทุกขั้นตอน ก่อนที่จะดำเนินงานทุกส่วนก็ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง ซึ่งตนเองก็เข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลของกฟผ. ที่ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และไม่มีการท้วงติงจากฝ่ายใด จนกระทั่งมีการก่อสร้าง และมีคนร้องเรียน
"สุดท้ายผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการ ก็ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ทั้งที่ไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงจะเข้าถวายฎีกาเนื่องจากเห็นว่าเป็นหนทางสุดท้ายแล้ว"