ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ว่าฯ ชลบุรี เชิญผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หารือพร้อมมอบนโยบาย และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารแรงงานต่างด้าวตามประกาศของ คสช.
วันนี้ (1 ก.ค.) นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมหารือนโยบาย และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารแรงงานต่างด้าวตามประกาศของ คสช. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธเนตร พิณเมืองงาม รรท.ผบก.ชลบุรี พ.อ.โอภาส อุตตรานคร รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 และสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี
นายคมสัน กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทย กำลังดำเนินการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว รวมถึงการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว หลังจากที่มีกระแสข่าวลือต่างๆ ทำให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศกัมพูชา หนีกลับประเทศจำนวนมาก ส่งผลกะทบทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในหลายภาคส่วน ทั้ง ประมง เกษตร อุตสาหกรรม และก่อสร้าง คสช.ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว จึงได้มอบนโนบายแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว
โดยวันนี้ ทางจังหวัดซึ่งได้รับมอบหมายให้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการแรงงานต่างด้าวแก่ผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน รวมถึงรับฟังปัญหาเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้อง และรวดเร็ว โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์รับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามอำเภอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ด้วยการลดขั้นตอน และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
ด้าน พล.ต.ต.ธเนตร พิณเมืองงาม รรท.ผบก.ชลบุรี กล่าวว่า ตำรวจขอยืนยันว่า หลังจากนี้เรื่องที่ทางผู้ประกอบการเป็นห่วง และหวาดกลัวเกี่ยวกับการแอบอ้างของกลุ่มมิจฉาชีพที่อ้างเป็นตำรวจหรือทหารนั้น จะเร่งทำการกวาดล้างย่างเด็ดขาด หากผู้ประกอบการมีเบาะแส หรือถูกกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านั้นมาเรียกเก็บเงิน หรือหลอกลวงเรียกเงิน ขอให้ผู้ประกอบการแจ้งให้ตำรวจ หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มณฑลทหารบกที่ 14 เพื่อออกจับกุมบุคคลดังกล่าวต่อไป
ด้าน พ.อ.โอภาส อุตตรานคร รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติตามประกาศของ คสช.นั้น กรณีที่ต่างด้าวอยู่นอกประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้แจ้งความประสงค์ต่อศูนย์ประสานงานรับแรงงานกลับเข้าทำงาน ภายในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ 4 ศูนย์ คือ สระแก้ว จันทบุรี ตราด และสุรินทร์ โดยนายจ้างสามารถยืนแบบแสดงความต้องการแรงงานที่เคยทำงานกับตน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ หลังจากนั้น แรงงานต่างด้าวจะได้รับใบอนุญาต และสามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรกของการได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจัดระเบียบแรงงานให้ถูกกฎหมาย และป้องกันการค้ามนุษย์ จึงต้องของความร่วมมือต่อผู้ประกอบการช่วยกันทำให้ถูกต้อง
ด้า่นตัวแทนจากผู้ประกอบการ กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้ คือ เรายังไม่มีแรงงานจากกัมพูชาเข้ามาในพื้นที่เลย ทั้งที่ขั้นตอน และการจัดการต่างๆ พร้อมที่จะรองรับ อาจติดปัญหาที่แรงงานกัมพูชาไม่สมารถออกนอกประเทศของเขาเองได้ จึงอยากฝากให้ คสช.ช่วยเร่งประสานกับกัมพูชาโดยด่วน เนื่องจากบางกิจการ เช่น โครงการก่อสร้างไม่สามารถทำงานให้เสร็จ และส่งงานตามเวลาที่กำหนดไว้ได้