ภาพการเติบโตของเมืองศรีราชาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (ปี 2525-2529) ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ ชายฝั่งทะเลตะวันออก กลายเป็นจุดศูนย์กลางความเจริญ และการลงทุนในหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายเข้ามาของทั้งแรงงานต่างถิ่น และแรงงานต่างชาติ ที่ขยายตัวตามการลงทุนของกลุ่มทุนต่างชาติ โดยจังหวัดชลบุรี และระยอง มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด **
ขณะที่อำเภอศรีราชา ซึ่งเคยเงียบเหงาจากการเป็นเมืองชายทะเลเล็กๆ ที่ไม่เคยมีบทบาททางเศรษฐกิจ ก็กลายเป็นเมืองแห่งการลงทุน การศึกษา และการเกิดใหม่ของภาคธุรกิจบริการหลากหลายรูปแบบ จนกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญต่างๆ ของจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน
นางสาวบุณฑริก กุศลวิทย์ กรรมการผู้จัดการ โรงแรมเดอะซิตี้ ศรีราชา ( The City Hotel) ในฐานะอดีตนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวถึงภาพการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโรงแรมในจังหวัดชลบุรีว่า เป็นไปอย่างต่อเนื่องช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่เมืองพัทยา เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเกิดขึ้น
เพราะนั่น...ไม่เพียงแต่จะทำให้ตลาดการเข้าพักและภาพการลงทุนเปลี่ยนไปจากที่มีเป้าหมายเพียงการลงทุนเพื่อสร้างที่พักให้กับผู้เดินทางในระยะสั้น สู่การลงทุนด้านที่พักระยะยาว รับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว สนองตอบไลฟ์สไตล์ของกลุ่มนักเดินทางที่มีความหลากหลาย
“ ในวันแรกที่เราตัดสินใจลงทุนธุรกิจโรงแรมที่อำเภอศรีราชา หลายคนก็ท้วงว่าจะมีผู้มาเข้าพักหรือ แต่เพราะพื้นฐานจากการเป็นสถาปนิก ทำให้มองเห็นการเติบโตของเมืองที่มีการดีไซน์รูปแบบสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งก็แน่นอนว่าการออกจากกรุงเทพฯ ช่วง 20 กว่าปีก่อนย่อมจะต้องเข้าพักยังเมืองพัทยาเท่านั้น แต่เมืองศรีราชา กลับสามารถตอบโจทย์การเข้าพักในรูปแบบต่างๆ จากการเกิดใหม่ของโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และหมู่บ้านจัดสรรที่กว่า 50 พุ่งเป้าไปที่การเข้าพักของครอบครัวชาวญี่ปุ่น และพร้อมรองรับการเข้ามาของชาวต่างชาติ และนักเดินทางได้เป็นอย่างดี” บุญฑริก กล่าว
ธุรกิจที่พักของอำเภอศรีราชา เติบโตควบคู่กับจำนวนบาร์ญี่ปุ่น และร้านอาหารที่เปิดรับเฉพาะชาวญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลาของความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ซึมซับสู่ชาวศรีราชาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาพครอบครัวชาวญี่ปุ่น ที่เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้พื้นที่สาธารณะ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของคนพื้นที่ เพราะในวันนี้ไม่เพียงแต่ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารหรือพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ มักมีภาพแม่-ลูก ชาวญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วยอยู่เสมอๆ เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมของภาคบริการต่างๆ ที่ก็ไม่เคยลืมแบ่งพื้นที่สำหรับครอบครัวชาวญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งบอกว่า ศรีราชาในวันนี้ไม่ต่างอะไรกับเมืองโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะมีความเจริญ และความสะดวกสบายเทียบเท่ากับเมืองโตเกียวแล้ว ยังมีสิ่งแวดล้อมของการเป็นเมืองชายทะเล ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่น รวมถึงชุมชนชาวญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่นับรวมถึงงานบริการต่างๆ ที่สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมการต้อนรับเสมือนอยู่บ้านของตนเอง ทั้งร้านอาหาร สถานบันเทิง บาร์ญี่ปุ่นหรือแม้แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในอำเภอศรีราชา และเมืองพัทยา ที่จัดให้มีล่ามชาวญี่ปุ่นเพื่อสื่อสารกับคนไข้ให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น
เช่นเดียวกับ เครือเกษมกิจ ผู้บริหารโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หลายแห่งในจังหวัดระยอง และชลบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้ให้บริการด้านที่พักที่ปักธงการเข้าพักของกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจนว่า 90% คือชาวญี่ปุ่นและในแต่ละปียังจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ทั้งการท่องเที่ยว สาธิตการทำอาหารไทย-ญี่ปุ่น และการจัดกิจกรรมงานวัดญี่ปุ่น เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นที่ห่างบ้านมานานได้รื้อฟื้นบรรยากาศท้องถิ่น และชาวไทย ก็ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียเพื่อการอยู่ร่วมกันฉันมิตร
ไม่ต่างจากการแตกไลน์ธุรกิจของกลุ่มทุนใหญ่อย่างเครือสหพัฒน์ฯ ภายใต้การบริหารของบริษัท สหพัฒนาพิบูลย์อินเตอร์โฮล์ดิ้ง จำกัด ( มหาชน) ที่ในวันนี้แทบจะหยุดการขยายพื้นที่รองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม แต่หันมาทุ่มงบประมาณในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นเป็นสำคัญ
นายทนง ศรีจิตร์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาพิบูลย์อินเตอร์โฮล์ดิ้ง จำกัด ( มหาชน) บอกว่าอำเภอศรีราชาในวันนี้ มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งการจัดทำโครงการต่างๆ นอกจากจะต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของชาวไทยในพื้นที่แล้ว ยังต้องสามารถอำนวยความสะดวกให้กับชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ที่ผุดขึ้นรอบนอกอำเภอศรีราชา ไม่น้อยกว่า 50 โครงการ ด้วย
ที่เห็นเด่นชัดคือ การทุ่มงบประมาณกว่า 800 ล้านบาท ผุดโครงการ J-Park Sriracha ที่มีลักษณะเป็นทั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น สถานที่ท่องเที่ยว และร้านค้าญี่ปุ่นพันธุ์แท้และศูนย์รวมสินค้าแฟชั่น ของเครือสหพัฒน์ฯ ที่ใช้ประสบการณ์จากการร่วมทุนกลุ่มทุนญี่ปุ่นมานาน ตอบโจทย์การลงทุนได้เป็นอย่างดี หลังประสบความสำเร็จจากการก่อตั้งโรงเรียนชาวญี่ปุ่น และพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมนานาชาติ วาเซดะ
ไม่นับรวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ในอำเภอศรีราชา ที่ในวันนี้เริ่มเพิ่มหลักสูตรการเรียน การสอนภาษาญี่ปุ่นให้กับนักเรียน หวังตอบรับความต้องการใช้แรงงานฝีมือที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ ตามการขยายพื้นที่ลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่น และการเกิดขึ้นของสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษที่มีมากราวดอกเห็ด...
เหล่านี้ล้วน...เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่าวันนี้ชาวญี่ปุ่นและสังคมญี่ปุ่น ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ของชาวศรีราชาอีกต่อไป
และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะภาพของเมืองศรีราชาในวันนี้ มิใช่เพียงเมืองที่อยู่อาศัยสำหรับชาวไทยและคนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ได้ซึมซับวัฒนธรรมหลากหลายของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ จนเสมือนหนึ่งว่าชาวญี่ปุ่นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองศรีราชาไปแล้วด้วยเช่นกัน ....