สุรินทร์- ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเข้าตรวจยึดไม้พะยูงในบ้านลูกเขยสารวัตรกำนัน ต.นาดี เมืองช้าง 200 ท่อน มูลค่ากว่า 20 ล้าน ลักลอบซื้อจากชาวบ้านในป่าสาธารณประโยชน์ และป่าไม้ชายแดน เตรียมส่งขายต่อให้ขบวนการไม้พะยูงข้ามชาติ
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่บ้านนาดี ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์ พล.ต.นิรุทธ เกตุสิริ ผู้บัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดสุรินทร์ และ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก (ผบ.จทบ.)สุรินทร์ พ.อ.ศักดิ์ชัย ทองนุ่ม เสธนาธิการ จทบ.สุรินทร์ พ.ต.อ.อภิชาติ แจ้งจันทร์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รอง ผบก.ภ.จว.) สุรินทร์ นายวัลภพ เรืองพรเจริญ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ และ พ.ต.ท.สงกรานต์ อุ่นเรือน สารวัตร สภ.เพี้ยราม ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองอำเภอเมืองสุรินทร์ เข้าตรวจค้นบ้านกำลังก่อสร้างขนาด 2 ชั้น ของ นายนิรัตน์ เหล่าเสน อายุ 23 ปี อยู่หมู่ที่ 5 ต.นาใหม่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นลูกเขยนายสนิท งามเจริญ อายุ 51 ปี สารวัตรกำนันตำบลนาดี
หลังจากได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า มีการลักลอบนำไม้พะยูงจากพื้นที่ต่างๆ เข้าไปเก็บไว้ที่บ้านหลังดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และมีการลักลอบนำไม้พะยูงอีกจำนวนหนึ่ง ไปซุกซ่อนไว้ในบ่อน้ำกลางทุ่งนาด้วย
จากการตรวจค้นพบไม้พะยูงท่อน ความยาว 2 เมตร หน้ากว้าง 6-10 นิ้ว จำนวน 50 ท่อน กองไว้บริเวณบ้าน บางส่วนทำเป็นที่วางสิ่งของรอบบ้าน และยังพบไม้พะยูงขนาดใหญ่ สามคนโอบ สูง 2 เมตร ราคาประมาณ 1 ล้านบาท อีกหนึ่งท่อน
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังออกตรวจสอบตามสระน้ำรอบหมู่บ้านตามที่สายข่าวรายงานว่า มีการลักลอบน้ำไม้พะยูง ไปแซ่ไว้จำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตรวจพบไม้พะยูงที่ซุกซ่อนไว้ใต้น้ำในสระน้ำห่างจากบ้านประมาณ 900 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ทหารจังหวัดทหารบกสุรินทร์ ลงไปงม และแบกขึ้นมาจากสระน้ำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้วัดจำนวนไม้ และปริมาตร เบื้องต้นพบไม้ท่อนพะยูง ขนาดความยาว 2 เมตร หนา 6-10 เซนติเมตร ซุกซ่อนใต้น้ำ จำนวน 170 ท่อน
รวมไม้พะยูงที่ซ่อนไว้ในสระน้ำ และบ้านหลังดังกล่าวมีจำนวน 220 ท่อน ประเมินราคาหากส่งขายต่างประเทศมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่สอบถามเจ้าของไม้ ทราบว่า มีการรับซื้อจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ต้นละ 3,000-4,000 บาท เมื่อตัดแล้วจะนำมาซ่อนไว้ในพื้นที่ใกล้บ้าน และในสระน้ำเพื่อรอการส่งขายให้แก่กลุ่มผู้รับซื้อไม้พะยูงส่งขายข้ามชาติ
เจ้าหน้าที่ยังสืบทราบว่า ไม้พะยูงจำนวนดังกล่าวมีบางส่วนที่ลักลอบตัดจากป่าสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างในจังหวัดสุรินทร์ และรับชื้อไม้พะยูงจากป่าชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อขายให้ขบวนการค้าไม้พะยูง ก่อนส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกทอดหนึ่งต่อไป