xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “บก.ลายจุด” กบดานเชียงราย ย้ำจะเลิกเคอร์ฟิวเมืองพ่อขุนต้องสงบก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) บก.ลายจุด หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ขณะจัดกิจกรรมล้อการเมืองหลังเหตุการณ์ปี 2553 ณ หอนาฬิกาฯ ถนนบรรพปราการ อ.เมือง จ.เชียงราย
เชียงราย - ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเผยได้ข่าว “บก.ลายจุด” คาดกบดานอำเภอชายแดนเชียงราย กำชับภาคเอกชนให้ความร่วมมือ ย้ำจะเลิกเคอร์ฟิวต้องสงบก่อน ระบุประเทศไทยขัดแย้งมานานต้องทำให้ยุติ ปลดแอกข้าราชการให้พ้นเงานักการเมือง

วันนี้ (5 มิ.ย.) พล.ต.พัฒนา มาตร์มงคล ผู้บัญชาการ กกล.รส.จทบ.ชร. เป็นประธานประชุมชี้แจงการดำเนินการ พร้อมจัดให้นายทหารแจ้งประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว การพาณิชย์ประมาณ 500 คน ที่อาคารคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ได้รับทราบ

พล.ต.พัฒนากล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศมีปัญหาเรื่องความแตกแยกหนัก และเกิดความไม่สงบ เมื่อไม่มีความสงบ การประกอบการของเอกชนก็ไม่ดีตาม เห็นได้ว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ดังนั้นจึงต้องเชิญภาคเอกชนมารับฟังและแจ้งถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการจะดำเนินการในอนาคต

เรื่องที่จะขอความร่วมมือคือ ขอให้ตรวจสอบในองค์กร ลูกจ้าง พนักงาน ที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ให้นำมาคืนเจ้าหน้าที่ก่อนวันที่ 10 มิ.ย.นี้ เพราะหลังจากนั้นจะมีการกวาดล้างหนัก รวมไปถึงกวาดล้างซุ้มมือปืน สินค้าหนีภาษี กลุ่มผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด

พล.ต.พัฒนากล่าวว่า กรณีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่ทาง คสช.ให้ไปรายงานตัวแต่หลบหนีอยู่นั้น การข่าวแจ้งว่าอยู่ในพื้นที่อำเภอห่างไกลแห่งหนึ่งของ จ.เชียงราย โดยได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรหนึ่ง จึงแจ้งให้ได้ระมัดระวัง เพราะการให้การช่วยเหลือจะถือว่ากระทำผิดกฎหมายด้วย

เช่นเดียวกับเรื่องการเขียนหรือโพสต์ข้อความต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ที่พบมีการปลอมแปลงประกาศของ คสช.ใน จ.เชียงราย ซึ่งการรับและนำไปเผยแพร่ต่อจะถือว่ามีความผิดไปด้วย

“ให้ช่วยกันระมัดระวังด้วย เพราะถ้านำไปเผยแพร่ต่อจนก่อให้เกิดการยั่วยุ ไม่สงบ มีการพาดพิงไปถึงเรื่องทางการเมือง ทางเจ้าหน้าที่ก็จะตรวจสอบในเครือข่าย และดำเนินคดีตามกฎหมาย”

พล.ต.พัฒนากล่าวอีกว่า หวังว่าภาคเอกชนจะเข้าใจการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และเข้าใจเรื่องเคอร์ฟิวที่อยากให้มีการยกเลิก ดังนั้น จ.เชียงรายจะต้องสงบให้ได้เพื่อเศรษฐกิจจะได้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะเราเห็นตัวอย่างกรณีประเทศพม่าที่ปิดมานานร่วม 20 ปี สปป.ลาวก็ปิดมานาน แต่ปัจจุบันพม่าเปิดแล้ว ส่วน สปป.ลาว ก็มีการแก้กฎหมาย เอื้อต่อผู้ประกอบการมากขึ้น

แต่ประเทศไทยกลับปิดมานานร่วม 1 ปีแล้ว ถ้าไม่มีผู้เข้ามาหยุดสถานการณ์ความขัดแย้งจะหยุดกันอย่างไร ดังนั้นจึงต้องทำให้สงบก่อน ถ้าใช้เวลาราว 2 ปีก็จะทำให้ข้าราชการมีความเป็นตัวของตัวเอง นักการเมืองไม่อาจมีส่วนได้เสียในตำแหน่ง ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เป็นกลาง และเต็มที่ หากไม่ปฏิบัติก็จะถูกดำเนินการตามขั้นตอนทั้งทางวินัย ดำเนินคดี ปลดออก ไล่ออก ตามลำดับ

พล.ต.พัฒนาย้ำว่า กรณีทหารนั้นไม่ต้องกังวล เพราะหากประพฤติไม่เป็นกลาง และกลับเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกเสียเองจะถูกลงโทษ ซึ่งมีอัตราโทษเพิ่มกว่าปกติเป็นสองเท่า ต้องขึ้นศาลทหารโดยไม่สามารถอุทธรณ์ได้เหมือนคดีปกติทั่วไปด้วย

ด้าน พล.ต.ต.วันชัย สุวรรณศิริเขต ผบก.ภ.จว.เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษา กกล.รส.จทบ.ชร.กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกาศ และคำสั่ง รวมทั้งกฎอัยการศึกมากมาย ดังนั้นภาคเอกชนสามารถให้ความร่วมมือได้ด้วยการแจ้งพนักงาน ลูกจ้าง หรือติดป้ายตามจุดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ หลังจากที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนกฎอัยการศึก และข้อหาเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความทางอินเทอร์เน็ต ที่ต้องถูกส่งขึ้นศาลทหาร

ส่วนกรณีการห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวนั้น ได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ปิดก่อนเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เวลากับผู้ไปเที่ยวยามค่ำคืนกลับทัน แต่ก็มีหลายรายปิดในเวลากระชั้นชิด ทำให้มีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมาก โดยช่วงแรกๆ มีมากนับ 100 คน ล่าสุดวันที่ผ่านมามี 25 คน จึงจะขอเชิญผู้ประกอบการให้ไปรับทราบแนวทางการดำเนินการต่อไป

ต่อมานายมนัส โสกันธิกา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ พล.ต.พรชัย ดุริยพันธ์ รอง ผอ.กอ.รมน.เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษา ได้ชี้แจงกรณีการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปว่า มุ่งเน้นให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการเป็นคนไทยร่วมกัน เคารพในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ลดความหวาดระแวงและความขัดแย้งกัน

วิธีการก็คือ ให้มีการทำประชาคมทุกหมู่บ้านใน 18 อำเภอของจังหวัด ในวันนี้ (5 มิ.ย.) ให้ประชาชนแจ้งความต้องการ ข้ออึดอัดใจ จากนั้นนำข้อมูลมาพิจารณาแก้ไขปัญหาตามลำดับ หากแก้ได้ในระดับตำบล อำเภอ ก็ให้ดำเนินการเลย หากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ส่งให้ทาง กกล.รส.จทบ.ชร.เพื่อแก้ไข หรือหากมากกว่านั้นก็จะส่งให้กองทัพภาคที่ 3 และ คสช.ต่อไป

โดยแนวทางคือเน้นความสามัคคี และบูรณาการทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งภาคเอกชนสามารถช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนในระดับต่างๆ ได้ตามแต่ความสะดวก ภายใต้กรอบการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ จึงขอให้ทุกฝ่ายสามัคคี เพราะถ้าไม่เช่นนั้นความหมายของความปรองดองก็จะล้มตั้งแต่ต้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น