นครสวรรค์ - ชาวนาปากน้ำโพทยอยไถ่ถอนหัวรถไถ ทรัพย์สินอื่นๆ ที่ขนเข้าโรงจำนำหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องช่วงไม่ได้เงินจำนำข้าว เตรียมลงมือทำนารอบใหม่ ด้าน ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินตามนโยบาย คสช. พร้อมผุดแนวคิดซื้อข้าวชาวนาทำข้าวสารขายเองในอนาคต
วันนี้ (5 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนา อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ได้รับเงินจำนำข้าวซึ่งค้างจ่ายมาตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มทยอยไถ่ถอนรถไถนาที่นำมาจำนำกับทางโรงรับจำนำในพื้นที่
นายประนอม ใหม่ทอง ชาวนาจาก ต.บ้านไร่ อ.ลาดยาว บอกว่า หลังจากได้เงินแล้ว ได้เริ่มการทำนาครั้งใหม่ จึงต้องมาไถ่ถอนรถไถนาที่นำมาจำนำไว้เมื่อ 6 เดือนก่อน ในราคา 15,000 บาท เพื่อที่จะนำไปใช้ทำนาอีกครั้ง
ขณะที่ชาวนาอีกหลายคนต่างกล่าวด้วยความดีใจว่า รถไถนาและอุปกรณ์การเกษตร เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ แต่ที่ผ่านมาต้องนำมาจำนำก็เพราะไม่มีเงินใช้จ่าย
เช่นเดียวกับที่ อ.ชุมแสง เกษตรกรที่ได้รับเงินแล้วก็ทยอยไถ่ถอนหัวรถไถ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ เช่นกัน
นายนิทัศน์ เกิดเพิ่มพูน เจ้าหน้าที่ประจำโรงรับจำนำอำเภอชุมแสง กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเกษตรกรต่างเดินทางมาไถ่ถอนหัวรถไถวันละ 3-4 เครื่อง ส่วนราคาที่นำมาจำนำไว้จะตกประมาณ 10,000 บาท ซึ่งหลายคนนำมาจำนำไว้นานกว่า 6 เดือน ดอกเบี้ยตกอยู่ที่ประมาณ 1% แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยมีใครขาดส่งดอกเบี้ย ที่ขาดส่งจริงๆ มีแค่ 1 ใน 100 อย่างตอนนี้มีหัวรถไถที่หลุดจำนำ 1 เครื่องเท่านั้น
ซึ่งเกษตรกรที่นำหัวรถไถมาจำนำที่โรงรับจำนำชุมแสง จะมีทั้งชาวนาในพื้นที่ชุมแสง หนองบัว จ.นครสวรรค์ อ.โพทะเล จ.พิจิตร และบางส่วนจาก จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากโรงรับจำนำบางแห่งไม่รับจำนำเครื่องมือการเกษตร แต่ที่นี่รับจำนำ
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีเกษตรกรเดินทางมาไถ่ถอนรถไถนา ทรัพย์สินอื่นๆ ในช่วงนี้แล้ว ก็มีเกษตรกรบางกลุ่มนำหัวรถไถกลับมาจำนำใหม่อีกรอบ เนื่องจากเงินที่ได้จาก ธ.ก.ส.ต้องนำไปจ่ายหนี้ทั้งใน-นอกระบบที่กู้มาในช่วงที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว
ด้านนายราชัณย์ นครจินดา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.นครสวรรค์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 76,992 ราย 12,311.36 ล้านบาท ถึงวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา จ่ายเแล้วประมาณ 9,848 ล้านบาท ล่าสุดวันนี้ (5 มิ.ย.) มีงบจัดสรรมา 1,913 ล้านบาท ซึ่งจะกระจายไปตามสาขา 16 สาขา เพื่อจ่ายให้ชาวนาต่อไป
ขณะเดียวกัน ขณะนี้ ธ.ก.ส.มีแนวคิดทำผลิตภัณฑ์ข้าวสารจำหน่ายเองในอนาคต โดยการรับซื้อข้าวจากชาวนา ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพูดคุยวางแผนงาน คาดว่าประมาณปลายปี 2557 จะเป็นรูปธรรม