หนองคาย - ป.ป.ช.หนองคายแถลงผลงานรอบ 6 เดือน พบเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชี้มีข้าราชการในจังหวัดร่วมกับข้าราชการจังหวัดใกล้เคียงเรียกรับเงิน 5 แสนบาท แลกสอบบรรจุเป็นข้าราชการแต่ไม่ได้ ย้ำต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว
วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดหนองคาย ศาลากลางจังหวัดหนองคาย นายสุธรรม คุ้มทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนางสาวสุรางค์ อิงคเวทย์ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดหนองคาย และกรรมการ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดหนองคาย ร่วมกันแถลงผลงานในรอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2557
ในด้านปราบปรามการทุจริต ป.ป.ช.หนองคายได้รับเรื่องกล่าวหาทั้งหมด 69 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 3 เรื่อง คงเหลือ 66 เรื่อง ซึ่งได้ตรวจรับเรื่องกล่าวหาจำนวน 55 เรื่อง ส่งสำนักที่เกี่ยวข้อง 4 เรื่อง มติคณะกรรมการ ป.ป.จ. พิจารณามีมติ 3 เรื่อง และรอเข้าวาระคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 4 เรื่อง
ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน มีบัญชียกมาจำนวน 346 บัญชี บัญชีใหม่ 256 บัญชี รวม 602 บัญชี ที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 183 บัญชี คงเหลือ 419 บัญชี ซึ่งเรื่องกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนการป้องกันการทุจริต ได้จัดโครงการปลูกต้นกล้าคุณธรรม ต่อยอดความดีในจิตสำนึกเด็กและเยาวชน รวม 10 โรงเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ตามกฎหมายใหม่และการประชาสัมพันธ์บทบาท อำนาจหน้าที่ของสำนักงานฯ ด้วยการบรรยายให้ความรู้แก่ผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ อปท.ในพื้นที่ รวมทั้งการจัดรายการวิทยุอีกด้วย
นายสุธรรม คุ้มทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดหนองคายกำลังเร่งสอบสวนการร้องเรียนของประชาชนว่ามีข้าราชการในจังหวัดหนองคายร่วมกับข้าราชการจังหวัดใกล้เคียงเรียกรับเงินจากชาวบ้าน 500,000 บาทเพื่อสอบบรรจุเข้ารับราชการแต่สอบไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่สำนักงานฯ กำลังเร่งดำเนินการ เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องกู้เงิน ขายนาขายไร่มาให้ข้าราชการกลุ่มนี้ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด
ทั้งนี้ หากประชาชนใน จ.หนองคายพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย สามารถร้องเรียนเข้ามาที่สำนัก ป.ป.ช.จังหวัดหนองคายได้ โดยให้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีความละเอียดทั้งพยานบุคคลและเอกสารที่สามารถนำไปขยายผลในการสอบสวนได้ พร้อมลงลายมือชื่อผู้ร้องอย่างชัดเจน หากเป็นการร้องเรียนที่ไม่ลงลายมือชื่อ หรือที่เรียกว่าบัตรสนเท่ห์ แต่มีรายละเอียดพอต้องเสนอขอมติจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงจะสามารถดำเนินการได้