พระนครศรีอยุธยา - อดีตเลขาฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย พร้อมกรมศิลปากร ลงพื้นที่อยุธยาใช้เครื่องมือตรวจเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล หลังเอียงเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 องศา เผยเคยตรวจครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือน ต.ค.56 พบมีการเคลื่อนตัวเอียงขององค์เจดีย์มากขึ้น โดยด้านฐานรากขององค์เจดีย์มีการทรุดตัวน้อยกว่าส่วนบนที่มีการทรุดมากกว่า ชี้ 3 ปัจจัยที่ทำให้เจดีย์เกิดการทรุดตัวมาจาก น้ำท่วม แผ่นดินไหว และผลกระทบที่มาจากรถบรรทุก ทำให้ได้รับความสั่นสะเทือน"
วันนี้ (31 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีที่ 3 พระนครศรีอยุธยา พร้อมนายธเนศ วีระศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อดีตเลขาฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และนายพรัช เล้าประเสริฐ และเจ้าหน้าที่วิศวกร ภาคเอกชน เดินทางไปตรวจสอบสภาพเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล หลังจากมีรายงานการตรวจวัดความเอียงเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 องศา โดยคณะของนายธเนศ ได้ทำการติดตั้งกล้องสแกนเนอร์เลเซอร์ และทำการสแกนภาพขององค์เจดีย์ และบริเวณรอบๆ ทุ่ง 4 ด้าน โดยแต่ละด้านใช้เวลาประมาณ 4 นาทีเศษ เพื่อกำหนดค่าความสูง และความเอียงของเจดีย์
นายธเนศ เปิดเผยหลังการใช้เครื่องสแกนตรวจวัดเจดีย์ว่า ตนเคยได้มาตรวจวัดเจดีย์ไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อช่วงเดือน ต.ค.2556 ช่วงนั้นได้รับแจ้งว่ามีการเคลื่อนตัวเอียงขององค์เจดีย์มากขึ้น จึงได้ทำเป็นโปรเจกต์ให้นักศึกษามาทำการสำรวจ และทำรายงานข้อมูล ซึ่งก็พบว่าเจดีย์เอียงไปตะวันตกเฉียงเหนือ เคลื่อนตัวออกไปจากศูนย์กลาง 3.49 เมตร แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า มีการเคลื่อนตัวมากขึ้นแค่ไหนในระยะเวลาเท่าไหร่ แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่า มีการทรุดตัวของฐานราก และการทรุดตัวของชั้นบนอาจจะมีการการหักงอ ซึ่งต้องตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง
“แต่จากการสังเกตพบว่าเอียงมากขึ้นแน่นอน ถ้าวัดการเคลื่อนตัวจากทิศเหนือเป็นมุมอาซีมุด 273 องศา 73 ลิปดา คือ ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีปัจจัยที่จะทำให้ทรุดมากมาย ต้องเร่งตรวจหาจุดการทรุดตัว ที่สำคัญจากการตรวจการทรุดตัวเบื้องต้น พบว่า ด้านฐานรากขององค์เจดีย์มีการทรุดตัวน้อยกว่าส่วนบนที่มีการทรุดมากกว่า คือ ตั้งแต่ส่วนเหนือระฆังขึ้นไป” นายธเนศ กล่าว
นายธเนศ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ที่ฐานรากแน่นอน เสริมให้ดินแข็งแรง ทำอย่างไรให้ดินที่รองรับมีเสถียรภาพดี ด้านบนก็ต้องเสริมอิฐให้มั่นคงขึ้น อาจจะใช้วิธีที่เรียกว่า อังเคิลลอต และเก้าส์ คือการใช้ปูนซีเมนต์ยึดที่ฐานล่าง แล้วทำให้ลักษณะดึงส่วนองค์เจดีย์ แต่การที่จะปรับให้เจดีย์ตั้งตรงนั้นต้องดูฐานล่าง เราเคยย้ายอาคารอายุเป็นร้อยปี แต่เจดีย์แตกต่างจากการย้ายสิ่งปลูกสร้างอื่น คงทำได้คือ การประสานหรือเสริมความมั่นคง
“ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทรุดตัวมาจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว ในอนาคตควรอยากจะแนะนำให้มีการติดเซ็นเซอร์ด้านบนหลังซ่อมแล้ว และตัววัดฐานล่างว่ามีการทรุดตัวหรือไม่ จะได้มีข้อมูลบันทึก ในส่วนของผลกระทบที่มาจากรถบรรทุกก็มีส่วน เพราะเวลารถวิ่งก็ทำให้เกิดคลื่นไปที่ฐาน ถนนที่ห่างเจดีย์ หรือโบราณสถานไม่ถึง 100 เมตร ก็ได้รับความสั่นสะเทือน ในอนาคตหากมีการคำนึงถึงเรื่องของรถที่วิ่งรอบโบราณสถานก็จะเป็นเรื่องดี ควรมีการเลี่ยงถนน ส่วนวัดใหญ่มีการเสื่อมสภาพต่อเนื่อง หากไม่ทำอะไรจะหลุดล้มเมื่อไหร่บอกไม่ได้ แต่หากเราดูแลก็จะอยู่ได้อีกนาน”