xs
xsm
sm
md
lg

มข.วิจัย “น้ำมันสมุนไพรสกัด” ต้านโรคเต้านมโคอักเสบ ดันเกษตรกรผลิตนมคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย ม.ขอนแก่นพบสารสกัดในน้ำมันสมุนไพรสามารถแก้ปัญหาการเกิดโรคเต้านมอักเสบในวัวนม หลังเกษตรกรประสบปัญหาได้น้ำนมไม่มีคุณภาพ ปริมาณลดลง และทำให้สูญเสียรายได้

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศ.นพ.วีระชัย โคสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.ดร.วัชรี คุณกิตติ นักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.ดร.สพญ.สุณีรัตน์ เอี่ยมละมัย คณบดีและนักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกันแถลงความสำเร็จของงานวิจัยโครงการที่ได้ร่วมกับทีมวิจัยระดมสมองวิจัยน้ำมันสมุนไพรสกัดต้านโรคเต้านมวัวอักเสบแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ ผลักดันเกษตรกรไทยผลิตนมให้ได้คุณภาพมาตรฐาน

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันโรคเต้านมวัวอักเสบยังเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงวัวนม ที่ประสบปัญหาน้ำนมวัวไม่มีคุณภาพและปริมาณลดลง นอกจากค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงแล้ว เกษตรกรยังต้องสูญเสียรายได้คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำนมวัวเป็นจำนวนมาก ประมาณความเสียหายโดยรวม 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี

แนวทางการรักษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการนำยาปฏิชีวนะและยาต้านการอักเสบมาใช้ ซึ่งยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาและการปนเปื้อนในน้ำนม น้ำนมวัวที่ได้จะขาดคุณภาพและส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในที่สุด

รศ.ดร.วัชรีกล่าวว่า สาเหตุของโรคเกิดจากการอักเสบและติดเชื้อของเต้านมวัว เกิดจากการทำความสะอาดเต้านมก่อนและหลังรีดไม่ดีพอ หรือเกิดจากการรีดนมด้วยเครื่องรีดนมที่แรงเกินไป จากปัญหานี้ จึงวิจัยโดยทำการเก็บตัวอย่างจากแม่วัวในฟาร์มเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ โดยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมปศุสัตว์ พบเชื้อที่ให้ก่อเกิดโรคมากที่สุด 2 ชนิด คือ สแตปฟิโลคอกคัส ออเรียส และสเตร็ปโตคอกคัส อกาแลกเตีย

สำหรับเชื้อก่อโรคที่พบนำมาทดสอบกับน้ำมันสมุนไพรหลายชนิด พบว่าน้ำมันสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้มากที่สุดมีอยู่ 7 ชนิด เป็นน้ำมันที่สกัดจากสมุนไพร ได้แก่ ตะไคร้ พลู ขมิ้นชัน ไพล กะเพรา โหระพา และมะกรูด จากนั้นนำน้ำมันสมุนไพรสกัด 7 ชนิดมาพัฒนาเป็นตำรับยาทดสอบฤทธิ์การฆ่าเชื้อได้ภายในระยะเวลาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ แล้วทำการทดสอบกับแม่วัวจริง จนประสบผลสำเร็จได้ผลิตภัณฑ์จุ่มเต้านมวัว

จากนั้นได้นำมาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมทดลองใช้ ปรากฏว่าผลสะท้อนจากเกษตรกรอยากให้ผลิตภัณฑ์มีความสะดวกในการใช้งานด้วย คณะนักวิจัยจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตำรับยาเดิมเป็นแบบสเปรย์ฉีดเพื่อให้เกษตรกรได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยๆ ในน้ำนมแล้วยังมีกลิ่นหอมและระเหยได้ง่าย ความหนืดน้อยสามารถไหลเข้าสู่ท่อนมวัวได้ง่ายในระยะเวลาไม่นานและปริมาณที่ใช้ไม่เยอะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับเอกชนที่สนใจต้องการต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ กระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำง่าย และลงทุนต่ำ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น


กำลังโหลดความคิดเห็น