ASTVผู้จัดการออนไลน์ - แผ่นดินเชียงรายเริ่มเขย่าน้อยลง สถิติล่าสุด ณ เวลา 10.00 น. วันที่ 17 พ.ค. รวม 835 ครั้ง ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา เตือน 17-23 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกระวังฝนตกหนัก
วันนี้ (17 พ.ค.) สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 18.08 น. ศูนย์กลางที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ตามมาตราริกเตอร์ขนาด 6.3 ที่ความลึก 7 กิโลเมตร ปรากฏว่าจนถึงเวลา 22.00 น. วันที่ 16 พฤษภาคม เกิดแผ่นดินไหวตามมา หรืออาฟเตอร์ช็อกขนาด 5.0-5.9 จำนวน 8 ครั้ง ขนาด 4.0-4.9 จำนวน 31 ครั้ง ขนาด 3.0-3.9 จำนวน 137 ครั้ง ขนาดน้อยกว่า 3 จำนวน 659 ครั้ง รวม 835 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามาจำนวนมากจนน่าตกใจ แต่ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา อาฟเตอร์ช็อกเริ่มลดลง แม้บางครั้งจะแรงถึงขนาดรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ก็ตาม โดยวันที่ 13 พฤษภาคม เกิดขึ้น 29 ครั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 11 ครั้ง วันที่ 15 พฤษภาคม 12 ครั้ง และวันที่ 16 พฤษภาคม 16 ครั้ง
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 เมื่อเวลา 04.00 น. ว่า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนโดยทั่วไป ขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ทำให้ด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังไว้ด้วย
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 17-23 พฤษภาคม คาดหมายช่วงวันที่ 17-23 พฤษภาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางจะพัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนหนักบางแห่งในบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อนึ่ง ช่วงวันที่ 18-23 พฤษภาคม ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะนี้
ข้อควรระวัง ช่วงวันที่ 17-23 พฤษภาคม ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังไว้ด้วย
ภาคเหนือ อากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส สูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 17 พฤษภาคม มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส สูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-23 พฤษภาคม มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันออก และตอนล่างของภาค
ภาคกลาง วันที่ 17 พฤษภารคม มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตก และตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส สูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงวันที่ 18-23 พฤษภาคม มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่
ภาคตะวันออก วันที่ 17 พฤษภาคม มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส สูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนช่วงวันที่ 18-23 พฤษภาคม มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส สูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส สูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร
กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล วันที่ 17 พฤษภาคม อากาศร้อนในตอนกลางวัน โอกาสมีฝนตกร้อยละ 30-40 ส่วนมากในช่วงบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส สูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18-23 พฤษภาคม มีเมฆเป็นส่วนมาก โอกาสมีฝนตกร้อยละ 40-60