ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “ทุ่งทานตะวัน” แหล่งท่องเที่ยวดังแห่งใหม่เมืองกว๊านพะเยาป่วน พบอบจ.จัดงบหนุนชาวบ้านปลูก แต่ป่าไม้พบรุกสวนป่าดอกคำใต้
วันนี้ (16 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุ่งทานตะวัน ต.ป่าซาง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ที่ อบจ.จัดงบ 1 ล้านบาท สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกบนเนื้อที่ราว 700-1,000 ไร่ จนกลายเป็นทุ่งดอกทานตะวันที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด เริ่มส่อเค้าว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น
เนื่องจากทุ่งทานตะวันดอกคำใต้แห่งนี้อยู่ในเป้าหมาย “ทวงคืนผืนป่า” ของกรมป่าไม้ เพราะอยู่ในเขตสวนป่าดอกคำใต้ ที่มีการปลูกป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2547 รวม 32 แปลง เนื้อที่ 11,705 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.ห้วยลาน ต.ป่าซาง ต.ดงสุวรรณ ต.สันโค้ง ต.บ้านถ้ำ และ ต.หนองหล่ม
ซึ่งกรมป่าไม้พบว่าสวนป่าดอกคำใต้ถูกราษฎรบุกรุกพื้นที่เข้าไปทำการเกษตรมาเป็นระยะยาวนาน ก่อให้เกิดความเสียหาย จึงเห็นควรสำรวจตรวจสอบความเสียหาย และทวงคืนผืนป่าของรัฐคืนมา
โดยล่าสุดชาวบ้าน ต.ป่าซาง และ ต.ดงสุวรรณ อ.ดอกคำใต้ ที่มีพื้นที่จับจองในทุ่งทานตะวันดังกล่าวประมาณ 400 คน ได้รวมตัวกันที่บริเวณทุ่งดอกทานตะวันเมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) เพื่อร่วมหารือ และร้องขอสิทธิในการทำกินที่ชาวบ้านบอกว่าพวกเขาได้ทำมาหากินในที่ดินทุ่งทานตะวันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจวบจนถึงรุ่นของพวกตน
ชาวบ้านต่างบอกว่าก่อนหน้านี้ได้ปลูกถั่วลิสง และข้าวโพดเลี้ยงชีพจนกระทั่งเกิดเป็นทุ่งดอกทานตะวันขึ้นมา จึงทำให้มีรายได้จากการขายเมล็ดดอกทานตะวันไร่ละ 3-4 พันบาท และยังมีรายได้เสริมจากการขายอาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงการจำหน่ายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว พอลืมตาอ้าปากได้หลังจากเจอปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ
ต่อมานายทนงศักดิ์ ธรรมโน ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าสำนักจัดการทรัพยากรกรมป่าไม้ที่ 2 เชียงราย เป็นตัวแทนของนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยหัวหน้าเจ้าหน้าที่สวนป่าดอกคำใต้ นายวรวิทย์ บุรณศิริ นายก อบจ.พะเยา นายสมัย คำชมภู นายอำเภอดอกคำใต้ และเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จังหวัดเชียงราย ได้เข้ารับฟังข้อเรียกร้องจากชาวบ้าน
จากนั้นนางกัลยา วงศ์กะชามาศ ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ป่าซาง ได้เป็นตัวแทนของชาวบ้าน กล่าวถึงข้อเรียกร้องขอสิทธิทำกินในพื้นที่ดังกล่าว และอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงการใช้พื้นที่ของพวกตน เพราะได้ใช้พื้นที่ปลูกถั่วและข้าวโพดสลับกันมานานแล้ว จนมีโครงการม่อนดอกทานตะวัน ทำให้พวกตนมีรายได้เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะยื่นหนังสือต่อต่ออธิการบดีกรมป่าไม้ ผ่าน ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่าสำนักจัดการทรัพยากรกรมป่าไม้ที่ 2 เชียงราย เพื่อหาแนวทางและข้อยุติต่อไป