ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้บริหารดั๊บเบิ้ลเอแจงเหตุเพลิงไม้กองไม้ที่ศรีสะเกษดับแล้ว คาดไม้เสียหายเพียง 1,000 ตันเท่านั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท ด้านสาเหตุของเพลิงไหม้เกิดจากการเผาตอซังข้าวของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง และมีลมพัดแรงทำให้เพลิงปลิวมาติดพื้นที่ลานกองไม้ของบริษัท
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ลานกองไม้ท่อนที่จังหวัดศรีสะเกษนั้น ขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมเพลิง ด้วยการแยกกองไม้ท่อนออกห่างจากส่วนที่เกิดไฟไหม้เพื่อควบคุมขอบเขตบริเวณเพลิงไหม้ให้ลดน้อยลง โดยสามารถจำกัดพื้นที่ขอบเขตเพลิงไหม้ให้อยู่ในการควบคุมได้ตั้งแต่เวลา 22.00 น. (วันที่ 27 เม.ย.) และนำรถโหลดเดอร์และรถถแบ็กโฮเข้าเขี่ยพื้นที่ที่มีเศษไม้บนพื้นดินเพื่อฉีดดับเพลิงให้สนิท และด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทำให้เพลิงไหม้สงบลงและสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (28 เม.ย.) ที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบทราบว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้เกิดจากการเผาตอซังข้าวของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง และมีลมพัดแรงทำให้เพลิงปลิวมาติดพื้นที่ลานกองไม้ของบริษัทฯ ถึงอย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และได้เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลลานกองไม้ในพื้นที่ต่างๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น และบริษัทฯ จะเร่งทำการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่อีกครั้ง
จากการประเมินเบื้องต้นคิดว่าไม่น่าเกิดผลกระทบต่อชุมชน เนื่องจากชุมชนโดยรอบอยู่ห่างออกไปมาก และบ้านเรือนที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปประมาณ 400 เมตร ประกอบกับทิศทางลมมิได้ไปในทางพื้นที่ชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขี้เถ้าไม้ไม่มีสารพิษอันตรายใดๆ บริษัทฯ จะนำไปใช้ในการปรับปรุงดินในแปลงไม้หรือถมพื้นที่ในโรงงานต่อไป
ส่วนผลกระทบต่อบริษัทฯ นั้น ในเบื้องต้นบริษัทฯ ประเมินแล้วว่ามีกองไม้เสียหายไปเพียง 1,000 ตันเท่านั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท น้อยกว่าที่ได้รายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งบริษัทฯ ยังสามารถนำท่อนไม้ที่เสียหายจากเพลิงไหม้นี้ไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าต่อไป นอกจากนี้ก็ไม่กระทบต่อปริมาณวัตถุดิบในการผลิตกระดาษแต่อย่างใด เนื่องจากท่อนไม้ในพื้นที่นี้ไหม้ไปเพียงบางส่วนเท่านั้น บริษัทฯ ยังมีสต๊อกไม้เพียงพอต่อการผลิต ซึ่งสามารถใช้ผลิตกระดาษได้นานกว่า 3 เดือน