นครพนม - พบกิ้งก่ากลายพันธุ์ มีปีกบินเหินได้ในดงป่าสวนยาง อ.ท่าอุเทน อดีตผู้ใหญ่บ้านเผยไม่เคยเห็นมาก่อน
นายโกเมธ ก่ำเสริฐ อดีตผู้ใหญ่บ้านน้อยลวงมอง ต.หนองเทา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เปิดเผยว่า ได้พบกิ้งก่ากลายพันธุ์ในสวนยางในเขต ต.หนองเทา โดยช่วงหน้าแล้งของทุกปี ชาวบ้านที่นี่นิยมออกหากิ้งก่ามาบริโภค ทั้งปิ้ง ย่าง แกงคั่ว ถือว่าเป็นเมนูเด็ดจากธรรมชาติ
กิ้งก่าส่วนใหญ่ที่พบจะมี 3 ชนิด คือตัวใหญ่ จะเป็นกะปอมก่าปรับสีได้ ชนิดที่สองจะมีสีแดงนิยมเรียกชื่อว่ากะปอมคอแดง ชนิดที่สามตัวเล็กมีสีดำสลับขาวชาวบ้านเรียกกะปอมสีสายแอว มีมากตามป่าในหมู่บ้านและในสวนยาง
นายโกเมธกล่าวว่า แต่ที่ตนประหลาดใจที่สุดหลังจากเฝ้าสังเกตในสวนยาง ได้พบกิ้งก่าจำนวนมากบินและเหินไปต้นยางอีกต้นหนึ่งได้ จึงจับมาดูตัวหนึ่งพบว่ามีลำตัวเล็ก สีดำสลับลาย ด้านหน้าด้านหลังจะมีแผ่นบางๆ คล้ายปีกข้างลำตัวทั้งสองด้าน ลำตัวแบนรับลมได้ดี ซึ่งกิ้งก่าลักษณะนี้ไม่เคยพบเห็นมาก่อน คาดว่าคงเป็นกิ้งก่ากลายพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพสวนยางที่ชาวบ้านบุกเบิกป่าเก่าหันมาทำสวนยางกันมากขึ้น
ทั้งนี้ กิ้งก่าที่นายโกเมธพบคือ กิ้งก่าบิน หรือกะปอมปีกในภาษาอีสานและลาว เป็นสกุลของกิ้งก่าในวงศ์ Agaminae ในวงศ์ใหญ่ Agamidae ใช้ชื่อสกุลว่า Draco จัดว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีประสิทธิภาพในการร่อนมากที่สุด มีแผ่นหนังขนาดใหญ่อยู่ทางด้านข้างลำตัว ได้รับการค้ำจุนด้วยกระดูกซี่โครง 5-7 ซี่ มีกล้ามเนื้ออิลิโอคอสทาลิสทำหน้าที่ดึงกระดูกซี่โครง 2 ซี่แรกไปทางด้านหน้า แต่กระดูกซี่โครงชิ้นอื่นได้เชื่อมต่อกับกระดูกซี่โครงสองซี่แรกด้วยเส้นเอ็น สามารถทำให้แผ่นหนังทั้งหมดกางออกได้
เมื่อเริ่มร่อนตัวของกิ้งก่าในระยะแรกจะทำมุม 80 องศา ช่วงนี้กิ้งก่าจะยกหางขึ้น ต่อมาจึงลดหางลงและแผ่กางแผ่นหนังด้านข้างลำตัวและทำมุมที่ลงสู่พื้นเหลือ 15 องศา เมื่อลงสู่พื้นหรือเกาะบนต้นไม้จะยกหางขึ้นอีกครั้ง
กิ้งก่าบินที่ทิ้งตัวจากต้นไม้สูง 10 เมตร สามารถร่อนได้เป็นระยะทางไกลกว่า 60 เมตร และลงเกาะบนต้นไม้หรือพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงจากเดิมได้ 2 เมตร
กิ้งก่าบินจัดได้ว่าเป็นกิ้งก่าขนาดเล็ก มีความยาวลำตัวส่วนมากไม่เกิน 20 เซนติเมตร แต่หางจะมีความยาวมากกว่าลำตัว พบกระจายพันธุ์ในป่าของเอเชียใต้ และเอเชียอาคเนย์ เช่น ภาคอีสานในประเทศไทย