ตราด - อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับตราด ตรวจสวนผลไม้ ล้งส่งทุเรียนส่งออก เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน ยอมรับแก้ยาก เพราะเจ้าของสวน และล้งหวังผลประโยชน์
วันนี้ (9 เม.ย.) ที่สวนไพฑูรย์ ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมนายวิชิตร ช่วยพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง เดินทางมาชมสวนทุเรียนของนายไพฑูรย์ วานิชศรี ที่เป็นสวนทุเรียนที่ผลิตเพื่อส่งขายให้แก่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เพื่อส่งไปยังตลาดในประเทศจีน
โดยมี น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายนเรศ ฝีปากเพราะ เกษตรจังหวัดตราด และส่วนราชการต้อนรับ และเดินทางไปชมสวนทุเรียน และรับทราบปัญหา
นายไพฑูรย์ วานิชศรี เจ้าของสวนทุเรียนกล่าวว่า ปัญหาของทุเรียนอ่อนเกิดจากตัวเกษตรกรและล้งที่มักจะตัดทุเรียนที่มีอายุไม่ถึงกำหนดสุกคือ 120-130 วัน แต่จะเก็บ 70-80 วัน หรือประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อสุกแล้วจะไม่หวานมัน การแก้ปัญหานี้ยากเพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ทั้งเกษตรกร และเจ้าของล้ง (ผู้รวบรวมผลผลิต) อยากได้ราคาแพง แต่สุดท้ายแล้วกลายเป็นการทำลายตลาดส่งออกผลไม้ไป
จากนั้นคณะเดินทางไปยังล้งโกศล (ตู่) ที่เป็นของนายโกศล ปุญญปัญญา ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของจังหวัดตราด ที่ส่งไปขายในประเทศจีน เพื่อรับทราบข้อมูลทางการตลาดส่งออก
จากนั้นเดินทางมาแถลงข่าวที่สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด เรื่อง ทุเรียนดี มีที่ภาคตะวันออก กิจกรรม “รณรงค์ไม่ตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ”
นายวิชิตร กล่าวว่า ทุเรียนในจังหวัดภาคตะวันออกปลูกมากที่สุดในประเทศถึง 280,000 ไร่ ที่จังหวัดจันทบุรี ปลูกมากที่สุดร้อยละ 80 พันธุ์หมอนทองเป็นที่นิยม พันธุ์ที่นิยมเพิ่มขึ้นที่มาแรง คือ นกกระจิบ มีปลูกมากที่อำเภอท่าใหม่ อำเภอเขาคิชกูฏ จังหวัดตราด ที่อำเภอเขาสมิง
สิ่งน่าสนใจก็คือ ทุเรียนมีปัญหาในเรื่องราคามีน้อย แต่ปัญหาที่พบมากที่สุดในเรื่องทุเรียนก็คือ การตัดทุเรียนอ่อน และปีนี้ตัดได้ 5 รุ่น ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทำให้น่าเป็นห่วง ปัญหาเกิดมาแล้ว 10 ปี แต่การออกถึง 5 รุ่น มีโอกาสมากที่จะมีการตัดทุเรียนอ่อนมากขึ้น ภาครัฐและหน่วยราชการในด้านการผลิตเป็นห่วงมากที่สุด
ขณะที่ นายโอฬาร กล่าวว่า เรื่องทุเรียนขอทำความเข้าใจที่ตราดที่ปลูกทุเรียน เป็นผลไม้ที่ดีจริงๆ ตัวสินค้าดี ไทยดีที่สุด คุณภาพที่ดีที่สุดในโลก บางกอกฟรุ๊ต จะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับ เชื่อว่าทุเรียนราคาไม่ตกแน่ เพราะทางกรมได้มีการสำรวจในเรื่องตลาด และผลผลิต การวางแผนการบริหารจัดการอย่างดี ซึ่งที่ตราดมีการบริหารจัดการที่ดีมาก ทำให้การตลาดดี
แต่ปัญหาที่แย่ก็คือ เกษตรตัดทุเรียนอ่อน และมีการส่งออกมาแต่หากมีการตัดทุเรียนคุณภาพเกษตรกรจะมีรายได้ดี แต่ถ้าทุเรียนอ่อนหลุดไปต่างประเทศต่อไปเราไม่สามารถส่งออกไปได้ เราหวังว่าเกษตรกรจะเก็บช่วง 70-80% ของระยะการสุกเท่านั้น ผู้บริโภคก็รับได้
นายโอฬาร กล่าวต่อว่า อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่เกษตรกรที่รู้ว่าทุเรียนออกดอกเมื่อไร และควรเก็บได้เมื่อไร แต่เพราะความโลภจึงรีบตัดหวังได้ราคาสูงทำให้เกิดปัญหา เรื่องการแก้ไขต้องรู้ว่าทุเรียนมาจากแหล่งใด เราได้มีการรณรงค์แล้ว ขอสื่อมวลชนในการสร้างจิตสำนึก ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และเราต้องดำเนินคดีต่อผู้ตัดทุเรียนอ่อนที่เป็นคดีอาญาฯ
“ต้องเรียนว่า ช่วงต้นฤดูจะมีปัญหา เราได้ทำแมปปิ้งแล้วว่าออกจากไหน เราจะสามารถสกัดกั้นได้ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ และจังหวัดตราดผลไม้ไม่มากจะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า แต่ถ้ายังมีปัญหาอยู่ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีต่อผู้ตัด และผู้ส่งเสริมให้ตัด ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งที่จังหวัดระยอง และจันทบุรี”