xs
xsm
sm
md
lg

2 ดร.ดังย้ำกษัตริย์ไทยในระบอบ ปชต.เป็นสากล แต่เลือกตั้งแล้วโกงกินไร้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเปิดเวทีปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร “พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย” 2 ดร.ยันของไทยเป็นสากลเหมือนประเทศ ปชต.ก้าวหน้า ย้ำการเลือกตั้งต้องคู่กับ “คุณธรรม” ระบุชัดไร้ประโยชน์หากเลือกตั้งแล้วมีแต่การโกงกิน-คอร์รัปชัน-ตั้งกติกาที่ไม่เป็นธรรม

วันนี้ (3 มี.ค.) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมืองเชียงราย ได้เปิดเวทีปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร “พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย” ณ อาคารพลตำรวจเอก เภา สารสิน โดยมีศาสตราจารย์ไชยยศ เหมะรัชตะ เป็นพิธีกร และมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ร่วมเป็นวิทยากร ซึ่งมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

ศ.ดร.วิษณุระบุว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการปกครองแบบมีประมุข ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตย ระบอบคอมมิวนิสต์ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฯลฯ ล้วนมีประมุขอยู่เพียง 2 ประเภท คือ แบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป และแบบมีประธานาธิบดีเป็นประมุข

แต่ที่ผ่านมีความรู้สึกในหมู่คนบางพวกว่า ระบบกษัตริย์ไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งตนอยากจะบอกว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าไทย เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ ล้วนมีระบบกษัตริย์ทั้งสิ้น

“ญี่ปุ่น” ยังมีข้อจำกัดกว่าประเทศไทยเสียอีก โดยกษัตริย์ญี่ปุ่นเรียกว่าพระจักรพรรดิ จะต้องมีองค์รัชทายาทเป็นเพศชายเท่านั้น และจะประทับอยู่ในวัง ออกพบประชาชนปีละเพียง 2 ครั้ง ภายใต้กระจกกันกระสุน รวมทั้งไม่มีโครงการหลวง

ส่วนของสเปน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น เนเธอร์แลนด์ทรงขี่จักรยานออกไปซื้อสินค้าเอง เป็นต้น

ศ.ดร.วิษณุกล่าวอีกว่า สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าระบบกษัตริย์ของแต่ละประเทศล้วนแล้วถูกหล่อหลอมมาอย่างยาวนานนับ 1,000 ปีจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ดังนั้นเมื่อมีคนถามว่า เหตุใดระบบกษัตริย์ไทยไม่ทำอย่างต่างประเทศ ก็ต้องถามกลับว่า เหตุใดต่างประเทศไม่ทำอย่างประเทศไทยบ้าง ซึ่งคำถามนี้ก็คงจะอยู่ในระบบกษัตริย์อื่นๆ ทั่วโลกเช่นกัน

ทั้งนี้ ตนเคยพบกับสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีแห่งภูฏาน และทรงแจ้งกับตนว่า กษัตริย์ในอุดมคติ-ในฝันของพระองค์คือ กษัตริย์ของประเทศไทย เพราะไม่เคยเห็นที่ใดมีโครงการหลวง มีการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมเหมือนประเทศไทย ทั้งยังทรงบรรทมเวลาตี 3-4 เพื่อตรวจฎีกาที่มีนักโทษถวาย ทำให้หลังจากทรงครองราชย์ที่ภูฏาน ได้ทรงปฏิบัติตาม

ศ.ดร.วิษณุกล่าวว่า ตนไม่ปฏิเสธว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เพราะเมื่อมีประชากรมาก ก็ต้องใช้การเลือกผู้แทนเขาไปทำงานแทนคนหมู่มาก แต่ประชาธิปไตยก็มีสาระที่สำคัญอยู่ 2 ด้านคือ ด้านกระบวนการ เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย และด้านคุณธรรม

“แต่การเลือกตั้งจะมีประโยชน์อะไรถ้าเลือกแล้วมีแต่การโกงกิน ทุจริตคอรัปชั่น ตั้งกติกาให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม ฯลฯ ดังนั้นการเลือกตั้งต้องควบคู่ไปกับคุณธรรม จึงจะทำให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ซึ่งในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่าเราจะเห็นได้ชัดเจนเรื่องคุณธรรม เช่น คนมีวินัย คิดเพื่อสาธารณะ ฯลฯ เมื่อมีวินัยเหล่านี้แล้วจึงมีการเลือกตั้งก็จะได้ผู้บริหารที่ดี แต่คนไทยดูง่ายๆ กรณีเข้าแถวซื้อสินค้า มักจะไม่ค่อยทำ แต่เมื่อมีคนแซงคิวก็ไม่กล้าว่า เพราะกลัวจะโดนด่าเสียเอง ส่วนในต่างประเทศใครแซงคิวจะถูกต่อว่ามาก แสดงให้เห็นว่าคนไทยบางส่วนขาดคุณธรรมในระบอบประชาธิปไตยข้อนี้ไปแล้ว

ศ.ดร.วิษณุบอกว่า เป็นเวลา 82 ปีแล้วที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ก่อนเปลี่ยนแปลงมีปัญหาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ คนว่างงาน การให้ข้าราชการออกจากงาน ปัจจัยจากการเมืองต่างประเทศ ฯลฯ มีนายพลทหารลงมาที่ถูกให้ออกจากราชการกว่า 500 คน คนระดับเสนาบดีกลาโหมยังขอให้รัชกาลที่ 7 ทรงอนุญาตให้ออกจากราชการเพื่อเซฟค่าใช้จ่าย เพราะคนตำแหน่งสูงก็ย่อมต้องมีเงินเดือนมาก สามารถช่วยเหลือข้าราชการระดับล่างๆ ได้อีกมาก ทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้มีการยึดอำนาจโดยกลุ่มคนที่ถูกให้ออกราชการ

“ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการเลือกตั้งโดยที่คนไทยไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน ระบบกษัตริย์ที่อิงกับคุณธรรมจึงถูกตัดขาดเพราะคุณธรรมต้องอยู่ในประชาธิปไตยไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้”


ศ.ดร.วิษณุกล่าวว่า ในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้กษัตริย์จะมีพระราชอำนาจเหนือกฎหมาย แต่ก็ไม่ขัดต่อหลักคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ กษัตริย์ต้องมีทศพิธราชธรรม ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะลุกฮือยึดอำนาจ จนเกิดเรื่องเล่าเรื่องความพยายามรักษาคุณธรรมหลายเรื่อง เช่น พันท้ายนรสิงห์ ฯลฯ

ด้าน ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 193 ประเทศ และมีประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจำนวน 28 ประเทศ แต่มีประเทศที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพียง 6 ประเทศ เช่น บรูไน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ นครรัฐวาติกัน ฯลฯ ที่เหลือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ซึ่งประเทศไทยและประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง กรณีประเทศไทยพบว่ามีความเป็นสากลตามกระแสโลก โดยพระมหากษัตริย์ทรงทำได้เหมือนกษัตริย์ที่ทำกันทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็มีลักษณะเฉพาะด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น