อุดรธานี - นปช.อุดรธานี เหิม แจ้งความเอาผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 6 คน ที่มีมติเสียงข้างมาก ให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ พร้อมเตรียมแจ้งจับ “พล.อ.ประยุทธ์” ฐานร่วมกันกบฏกับนายสุเทพ
วันนี้ (28 มี.ค.57) ที่สถานีตำรวจเมืองอุดรธานี นางรัตนาวรรณ สุขศาลา ประธาน นปช.อุดรธานี พร้อม พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ประธานชมรมคนรักประชาธิปไตย และคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ได้เข้าร้องทุกข์กับ พ.ต.ท.บรรจง ชาสังข์ พนักงานสอบสวนชำนาญการ และ พ.ต.อ.บรรจบ สีหานาวี พนักงานสอบสวน ชำนาญการพิเศษ สภ.เมืองอุดรธานี ให้ดำเนินคดีต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน ประกอบด้วย นายจรูญ อินทจาร, นายจรัญ ภักดีธนากูล, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายนุรักษ์ มาประณีต, นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาณา มาตรา 269 ประกอบมาตรา 209 และ 210
พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ประธานชมรมคนรักประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ตนในฐานะประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 3 เห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีพระราชบัญญัติตั้งศาลตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 198 บัญญัติไว้ และไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรค 6 บัญญัติว่าวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 300 วรรค 5 บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า ข้อกำหนดดังกล่าวสิ้นอายุลงแล้วตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญจึงย่อมไม่มีกฎหมายวิธีการพิจารณาใช้เป็นแบบอย่าง
การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างเอารัฐธรรมนูญ มาตรา 245(1) ซึ่งวางหลักว่า ผู้ตรวจราชการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเป็นว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” แต่วัตถุแห่งคดีซึ่งคือ “การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป” ไม่ถือว่าไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงไม่เข้าหลักที่ผู้ตรวจแผ่นดินจะเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา
ตนถือว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงผู้ประกอบการงานในวิชากฎหมาย ร่วมกันทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ ไม่ถือว่าเป็นคำวินิจฉัย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคสอง กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญทุกคนต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนพร้อมแถลงด้วยวาจา วรรคสาม กำหนดให้ลงคำคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญทุกคน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศคำวินิจฉัยส่วนตนในราชกิจจานุเบกษาแต่อย่างใด
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่อีกวาระหนึ่ง หรือ ป.วิอาญา ม.209 นอกจากนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงมาก ซึ่งมีจำนวนมากกว่าห้าคน ร่วมกันกระทำผิดอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ย่อมเป็นความผิดฐานซ่องโจรอีกกระทงหนึ่ง ป.วิอาญา ม.210
พ.ต.ต.เสงี่ยม กล่าวอีกว่า วันนี้จะให้ น.ส.รัตนาวรรณ สุขศาลา และผู้เสียสิทธิ จะทำการแจ้งความในข้อหานี้ ส่วนได้แจ้งกล่าวโทษที่ดีเอสไอแล้ว และจะกล่าวโทษอีกประเด็นหนึ่ง คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรม ไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งตามศาลรัฐธรมนูญ มาตรา 198 จึงไม่มีฐานะเป็นศาล ไม่มีเขตอำนาจศาล
หลังจากนี้จะแจ้งข้อหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ร่วมกันก่อการกบฏ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าพนักงาน ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ จากระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 มาตรา 8(1) หมายความว่า กองทัพมีหน้าที่ปราบปรามกบฏ และจลาจล นอกจากไม่ทำแล้ว ยังเอากำลังปกป้องกบฏคือนายสุเทพ ที่มีหมายจับในคดีอาญาแล้ว