xs
xsm
sm
md
lg

จนท.อุทยานฯ กุยบุรีระดมเติมน้ำในบ่อให้สัตว์ป่าหลังเกิดภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขีันธ์ - จนท.อุทยานฯ กุยบุรี เร่งเติมน้ำในบ่อขนาดเล็กอย่างน้อย 7 บ่อ ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีฯ หลังเกิดภัยแล้งทำให้น้ำในบ่อแห้งตลอดจนลำห้วยต่างแห้งขอด รวมทั้งแปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์กว่า 1,600 ไร่ กำลังตายลง ขณะที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหินต้องขึ้นโปรยสารฝนหลวงอีกครั้งในพื้นที่โครงการพระราชดำริ หลังพบสภาพอากาศเหมาะสม เพื่อให้ฝนตกลงในพื้นที่ป่าสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ดังกล่าว

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 3 สาขาเพชรบุรี นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานฯกุยบุรี นายสาธิต ปิ่นกุล หัวหน้าโครงกาฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระดมรถบรรทุกน้ำของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เร่งเข้าเติมน้ำในบ่อน้ำขนาดเล็ก 7 บ่อ ที่กระจายอยู่ในบริเวณแปลงพืชอาหารสัตว์ป่า

หลังพบว่าบ่อน้ำดังกล่าวที่ดำเนินการขุดไว้ให้สำหรับช้าง กระทิง และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ นั้นได้เกิดภาวะแห้งหลังจากไม่มีฝนตกลงมานานกว่า 3 เดือนแล้ว ทำให้น้ำตามลำห้วยในพื้นที่แห้งขอด รวมทั้งแปลงหญ้าในโครงการพระราชดำริ ที่ปลูกไว้เป็นพืชอาหารสัตว์ป่ากว่า 1,600 ไร่ ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้หญ้าเริ่มแห้ง และตายลง ทำให้ทั้งช้าง และกระทิง ส่วนหนึ่งอพยพขึ้นมาหาอาหารกินทางพื้นที่ตอนบนในอำเภอสามร้อยยอด และอำเภอปราณบุรี

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากาพระราชดำริ กล่าวด้วยว่า แต่ละบ่อต้องใช้น้ำบ่อละอย่างน้อยกว่า 60,000 ลิตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องไปบรรทุกน้ำจากเขื่อนยางชุม คาดว่าอย่างน้อยจะใช้เวลานำน้ำเข้ามาเติมจนครบทุกบ่อต้องใช้เวลาราว 3 วัน

ในขณะที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหินได้ส่งเครื่องบินคาราแวน 3 ลำ ของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ขึ้นโปรยสารฝนหลวงในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันนี้อีกครั้งหลังพบว่า สภาพอากาศมีความเหมาะสมเพื่อทำให้ฝนตกลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า และแปลงปลูกพืชสำหรับช้างและกระทิง และพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎร


กำลังโหลดความคิดเห็น