xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรตราด แจ้งเตือนการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟในมังคุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนเรศ  ฝีปากเพราะ เกษตรจังหวัดตราด  แจ้งเตือนชาวบ้านระวังเพลี้ยไฟในมังคุด
ตราด - เกษตรจังหวัดตราด แจ้งเตือนเกษตรกรระวังการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟในมังคุด ช่วงระยะดอกบาน-ติดผลอ่อน

นายนเรศ ฝีปากเพราะ เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า ช่วงนี้มังคุดในภาคตะวันออกอยู่ในระยะดอกบาน ติดผลอ่อน ซึ่งอาจพบการทำลายของเพลี้ยไฟมากขึ้น โดยตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟ จะใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกอ่อน ทำให้ดอกมีรอยแผลสีน้ำตาลกร้าน และร่วงได้ในที่สุด ถ้าเพลี้ยไฟเข้าทำลายผลอ่อนจะทำให้เกิดอาการยางไหลที่ผล เจริญเติบโตช้า ผิวผลมีรอยขรุขระเป็นรอยกร้าน และแคระแกร็น ส่งผลต่อคุณภาพ และปริมาณผลผลิตได้

สำหรับการป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟ คือ ใช้น้ำฉีดพ่นเพื่อปรับสภาพแวดล้อม ไม่ให้เหมาะสมต่อการเจริญของเพลี้ยไฟ และลดปริมาณเพลี้ยไฟในขณะที่มังคุดแทงช่อดอก ทำการสำรวจปริมาณเพลี้ยไฟอย่างสม่ำเสมอ โดยการสุ่มเคาะช่อดอกบนกระดาษขาวก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์ ถ้าพบเพลี้ยไฟ 3 ตัวต่อช่อ หรือพบมากกว่า 1 ตัวต่อดอก ให้ทำการกำจัดโดยการใช้สารเคมี และพ่นซ้ำอีก 2 ครั้งขณะดอกบาน

หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ถ้าพบปริมาณเพลี้ยไฟมากกว่า 1 ตัวต่อ 4 ดอก แต่พบศัตรูธรรมชาติ เช่น ตัวห้ำ ด้วงเต่า ให้รอประมาณ 1-2 วัน หากพบปริมาณเพลี้ยไฟลดลงไม่ต้องดำเนินการใดๆ

นายนเรศ กล่าวว่า หากพบเพลี้ยไฟยังมีปริมาณมากให้พ่นด้วยสารเคมีคาร์โบซัลแฟน 20% อีซีอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอลอัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฟิโปรนิล 5% เอสซีอัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และไซเพอร์เมทริน 6.25% โฟซาโลน 22.5% อีซีอัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ข้อควรระวังเกษตรกรไม่ควรพ่นสารเคมีชนิดเดียวกันติดต่อกัน ควรสลับการใช้สารเคมีชนิดอื่นเพื่อป้องกันแมลงต้านสารเคมี ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดในวัน และเวลาราชการ
มังคุดกำลังออกดอก ซึ่งต้องเฝ้าระวังเพลี้ยไฟด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น