xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟแนะวิธีเลี้ยงปลาช่วงน้ำทะเลหนุน-ฤดูแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ซีพีเอฟ แนะเกษตรกรเลี้ยงปลาในวิกฤตน้ำทะเลหนุน-น้ำน้อย ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันปัญหาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในหลายพื้นที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาน้ำทะเลหนุนรุกล้ำพื้นที่เลี้ยงปลาน้ำจืด ประกอบกับปริมาณน้ำที่ลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ที่ส่งผลโดยตรงต่อการเลี้ยงปลาของเกษตรกร จึงมีแนวทางการจัดการสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเพื่อลดผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ต้องเลือกแหล่งน้ำเพื่อวางกระชังปลาที่ต้องเป็นน้ำสะอาด มีกระแสน้ำไหลดีตลอดเวลา ไม่ควรวางกระชังในน้ำนิ่ง และต้องเป็นจุดที่มีการตกตะกอนน้อย จากนั้นต้องบริหารจัดการการเลี้ยงด้วยการลดปริมาณปลาที่จะเลี้ยงลงเหลือประมาณร้อยละ 60-70 จากภาวะปกติ เพื่อให้ปลาอยู่สบายไม่แออัด ช่วยลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงปลาในปริมาณเท่าเดิม แนะนำให้เพิ่มจำนวนกระชังแทน

นายอดิศร์ กล่าวอีกว่า กรณีที่ปริมาณน้ำลดลงมากอาจมีผลต่อปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีน้อยลง เกษตรกรควรเพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วยการติดตั้งเครื่องให้อากาศในกระชัง โดยเทคโนโลยีนี้ซีพีเอฟได้พัฒนาต่อยอดมาจากระบบให้อากาศในบ่อเลี้ยงกุ้ง พบว่าสามารถเพิ่มอากาศในน้ำได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ และเขื่อน ใช้เครื่องให้อากาศที่มีประสิทธิภาพสูงดังกล่าว เมื่อออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น การไหลเวียนของน้ำดีขึ้น ทำให้การเลี้ยงปลามีประสิทธิภาพดีขึ้น ปลาเติบโตได้ดีขึ้น และมีความต้านทานโรคดี

“หากน้ำเค็มหนุนสูง และมีสภาพน้ำที่แปรปรวนสลับน้ำเค็ม และน้ำจืดอยู่ตลอด อาจเพิ่มความเครียดให้แก่ปลาได้ เกษตรกรควรเพิ่มวิตามินซีให้ปลากินสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคแก่ปลา ควบคู่กับการใช้สารโปรไบโอติก ที่เป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์เพื่อช่วยควบคุมเชื้อโรคในตัวปลาได้ นอกจากนี้ ควรให้สารเพิ่มภูมิต้านทาน เช่น เบต้ากลูแคน ที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของปลาช่วยป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียต่างๆ ได้เป็นอย่างดี” นายอดิศร์ กล่าว

ทั้งนี้ ปลาทับทิม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ปลาที่ซีพีเอฟพัฒนาขึ้น สามารถเลี้ยงในน้ำกรอยได้ โดยทนความเค็มได้ถึง 15-20 พีพีที อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องระมัดระวังภาวะที่เรียกว่า ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ เนื่องจากแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อยจะมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารมากเกินไป ทำให้แพลงก์ตอน และแบคทีเรียเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเกิดการแย่งออกซิเจนกับสัตว์น้ำ

เกษตรกรต้องทำการเติมอากาศในน้ำ ที่สำคัญต้องให้ความสนใจ ใส่ใจดูแลปลาที่เลี้ยง โดยเฉพาะการให้อาหารควรให้เท่าที่ปลากินได้ ต้องให้กินให้หมดอย่าให้เหลือลอยน้ำซึ่งจะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย สังเกตการกินอาหารของปลาถ้าเริ่มกินช้าลง ไม่ควรปล่อยให้อาหารลอยน้ำเกิน 15 นาที ต้องตักอาหารออก และปรับปริมาณการให้อาหารให้พอดีกับการกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น