xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ รพ.ชลบุรี-สมิติเวชศรีราชา พบหนทางช่วยชีวิตผู้ป่วยตับแข็งขั้นตรีทูต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถิติการรอดชีวิตจากการผ่าตัดของผู้ป่วยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - แพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมหลอดเลือด ชี้พิษภัยของโรคตับแข็งจากการติดสุราเรื้อรังอาจรุนแรงถึงขั้นเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตกจนอาเจียนเป็นเลือดซ้ำซาก ซึ่งแต่ละปี รพ.ชลบุรี รับผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึงครึ่งหนึ่งจากจำนวน 140 คน ที่เข้ารับการรักษาโดยวิธีรักษาด้วยยาไม่เป็นผล จนต้องใช้วิธีผ่าตัดรัดหลอดเลือด ซึ่งพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้เพิ่มจาก 20% เป็น 80%

นพ.สมประสงค์ ทองมีสี หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ และรองหัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม รพ.ชลบุรี และแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมหลอดเลือด รพ.สมิติเวชศรีราชา เผยถึงพิษภัยของโรคตับแข็งว่า ปัจจุบันไม่เพียงแต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับเท่านั้น แต่อาจมีผลให้เกิดอาการไตวาย รวมทั้งทำให้หายใจลำบาก หรืออาจรุนแรงถึงขั้นสมองไม่สั่งงาน เนื่องเพราะตับ มีหน้าที่ในการกำจัดของเสีย และขจัดสารพิษออกจากร่างกาย รวมทั้งสร้างสารที่มีประโยชน์

เปรียบเสมือนโรงงานขจัดสารพิษที่ทำหน้าที่ร่วมกับไต ที่จะขับของเสียในเลือดออกทางปัสสาวะ แต่เมื่อตับทำงานไม่ได้ ก็จะทำให้มีของเสียคั่งในร่างกายจำนวนมาก

ทั้งนี้ สาเหตุการป่วยด้วยโรคตับแข็งที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ส่วน คือ 1.การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และ 2.การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซึ่งโรคตับแข็ง ที่มีสาเหตุจากการดื่มสุราถือว่าน่ากลัวที่สุด เพราะหากมีอาการติดสุราเรื้อรัง และมีอาการป่วยรุนแรงในระยะสุดท้าย คือ มีอาการอาเจียนเป็นเลือดสดจากสาเหตุเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตกแล้ว จะทำให้การรักษาด้วยยาและการส่องกล้องเพื่อดำเนินกรรมวิธีรัดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร หยุดยั้งการแตกของเส้นเลือดไม่ได้ผล

“โรคตับแข็ง ถือเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งในแต่ละปีจำนวนคนไข้ที่เข้ารับการรักษาที่ รพ.ชลบุรี มีมากถึง 140 คน และครึ่งหนึ่งคือ กลุ่มผู้ป่วยขั้นวิกฤตที่มีอาการอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งวิธีการสังเกตผู้ป่วยจากสาเหตุดังกล่าวคือ คนไข้มักมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าคนปกติ และมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ขณะที่วิธีป้องกันโรคจากสาเหตุไวรัสตับอักเสบ ทำได้ด้วยการให้วัคซีน”

นพ.สมประสงค์ ยังเผยอีกว่า จากการใช้เวลากว่า 5 ปีในการศึกษาและวิจัยรูปแบบการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้ายให้มีโอกาสรอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ การผ่าตัด ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้นำเสนอโครงการรักษาโรคอาเจียนเป็นเลือดจากตับแข็ง จนได้รับรางวัลจากการประชุมเชิงวิชาการทางการแพทย์ภาคตะวันออก ซึ่งจัดขึ้นที่ รพ.ชลบุรี ในปี 2556 ที่ผ่านมา แต่ก็พบว่าวิธีดังกล่าวกลับยังใช้น้อยมากในประเทศไทย เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรคนที่มีความแข็งแกร่งสำหรับเตรียมพร้อมในการผ่าตัดค่อนข้างมาก

นอกจากนั้น ยังต้องมีเครื่องมือในการรักษา ทั้งเส้นเลือดเทียม และเครื่องดูดเลือดเสียเพื่อนำออกมาปรับสภาพใหม่ก่อนฉีดใส่ร่างกายอีกครั้ง

โดยขั้นตอนการผ่าตัดจะใช้วิธีการเปิดช่องท้องเพื่อทำการต่อเชื่อมเส้นเลือดดำ ที่มีความดันสูงในช่องท้องซึ่งเป็นสาเหตุของเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร เข้ากับเส้นเลือดดำใหญ่กลางท้องซึ่งมีความดันต่ำ โดยใช้เส้นเลือดเทียมในการเชื่อมต่อ ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 3 ชั่วโมง ผลลัพธ์จะทำให้เส้นเลือดขอดในหลอดอาหารทั้งหมดยุบไปจนทำให้หายจากอาการอาเจียนเป็นเลือด

“แต่กรณีที่ยากคือ คนไข้ที่มาถึงมือมักมาในภาวะความดันตก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไข้ไม่เลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ใช่เพราะเรื่องเงิน แต่เพราะกลัวการผ่าตัด ส่วนปัจจัยที่ทำให้การผ่าตัดไม่สัมฤทธิผล คือ คนไข้ไม่หยุดเหล้าจนทำให้ตับเสื่อมไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่อันตรายของเหล้าเมื่อเข้าสู่ร่างกาย นอกจากจะทำลายอวัยวะต่างๆ แล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และการอักเสบของตับอ่อน จนเป็นที่มาของการปวดท้องที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต”

นพ.สมประสงค์ เผยเพิ่มเติมว่า การผ่าตัด สามารถทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะมีการใช้วิธีผ่าตัดในการรักษา และจากการศึกษายังพบว่า คนไข้ที่ติดสุราอย่างรุนแรงมักอยู่ในกลุ่มคนที่มีอายุเฉลี่ย 40-50 ปี รวมทั้งยังเป็นผู้ที่มีปัญหาครอบครัวและมีรายได้น้อย
การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง วิธีการรักษาแนวใหม่ที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคตับแข็งขั้นตรีฑูตให้ได้รอดชีวิต

กำลังโหลดความคิดเห็น