ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ธ.ก.ส.เชียงใหม่เปิดรณรงค์ร่วมบริจาคและสมทบทุนกองทุนช่วยเหลือชาวนาที่เดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าว ผู้ว่าฯ ร่วมสมทบด้วย 5 หมื่น ตั้งเป้าถึงสิ้น มิ.ย.ได้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
วันนี้ (5 มี.ค.) ที่สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดเชียงใหม่ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานเปิดจัดการรณรงค์ร่วมบริจาค และสมทบทุนกองทุนช่วยเหลือชาวนา ขึ้นตามนโยบายของ ธ.ก.ส.ที่ได้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนาที่เดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 ที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการ
โดยสามารถร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนาได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 บริจาคเงินเข้ากองทุน บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 0200-3-3477-582 ธ.ก.ส.สาขาบางเขน รูปแบบที่ 2 สมทบเข้ากองทุน ชนิดคืนต้น ไม่มีผลตอบแทน ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป และรูปแบบที่ 3 สมทบเข้ากองทุนชนิดคืนต้นและมีผลตอบแทน ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป อัตราผลตอบแทนร้อยละ 0.63 ต่อปี
ทั้งนี้ ในช่วงของการเปิดการรณรงค์วันนี้ ได้ยอดรวมเป็นเงินประมาณ 3.5 ล้านบาท จากการที่หลายภาคส่วนร่วมกันสมทบทุน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่ร่วมสมทบ 50,000 บาท ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านสมทบทุน 1 ล้านบาท และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการและภาคเอกชน
นายสมมาตร บุปผะโก ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธ.ก.ส. กล่าวว่า ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 197,252 ราย ข้าวเปลือก 832,996 ตัน วงเงิน 15,282 ล้านบาท ายเงินให้เกษตรกรที่มีใบประทวนประมาณ 8,000 ล้านบาท คงเหลือประมาณ 7,000 ล้านบาท
ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงจัดการรณรงค์ขอบริจาคและสมทบทุนกองทุนช่วยเหลือชาวนา โดยกองทุนดังกล่าวจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาระหว่างการรอเงินทุนตามโครงการที่จัดหาโดยภาครัฐ โดยใช้วิธีการรับบริจาคและสมทบเงินเข้ากองทุน โดยจำกัดวงเงินกองทุนไว้ 20,000 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 20 ของภาระหนี้ที่โครงการต้องชำระให้ชาวนา ซึ่งเฉพาะวันนี้คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และการดำเนินการระหว่าง 1 มี.ค.-30 มิ.ย.น่าจะได้เงินถึง 1,000 ล้านบาท
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การระดมทุนดังกล่าวถือว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนา และทางจังหวัดก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล เช่น การนำข้าวที่อยู่ในสต๊อกมาจำหน่าย ซึ่งรัฐบาลได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บริหารจัดการได้รวดเร็วขึ้น ส่วนการจ่ายเงินรับจำนำข้าวให้ชาวนาเชียงใหม่นั้น ขณะนี้มีการทยอยจ่ายและไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลใบประทวนสินค้า และปริมาณข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 ณ วันที่ 4 มี.ค. 57 พบว่าใน 8 จังหวัดภาคเหนือ มีเกษตรการที่เข้าโครงการ 197,252 ราย ข้าวเปลือก 832,996 ตัน วงเงิน 15,286 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรเงิน 8,360 ล้านบาท เงินจ่ายสะสม 8,314 ล้านบาท ที่อนุมัติแล้วรอโอนอีก 7.40 ล้านบาท และรอการอนุมัติอีก 27.96 ล้านบาท ทั้งนี้คิดเป็นข้าวเปลือกที่ชาวนาได้รับเงินไปแล้ว 454,986.06 ตัน ยังเหลืออีก 378,010 ตัน วงเงิน 6,937 ล้านบาท
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่จ่ายเงินไปแล้ว 1,342 ล้านบาท จากที่ได้รับอนุมัติ 1,348 ล้านบาท ยังคงค้างอีก 56,531 ตัน วงเงิน 913 ล้านบาท