xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแล้งมาเร็ว! แหล่งน้ำดิบขอนแก่นตื้นเขิน "ลำน้ำชี" แห้งขอดทั้งสาย เพชรบูรณ์เหลือน้ำเก็บเพียง 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แล้งรุนแรงส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง เขื่อนลำปาว ต้องเลิกกิจการไปหลายร้อยรายแล้ว
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี หลายจังหวัดเดือดร้อนหนัก แหล่งน้ำดิบในขอนแก่นเริ่มตื้นเขิน ขณะที่ "ลำน้ำชี" ที่ชัยภูมิแห้งขอดตลอดทั้งสาย รวมทั้งน้ำในเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บกักน้ำก็เหลือน้อยลง ส่วน "เพชรบูรณ์" พบแหล่งเก็บน้ำในจังหวัดมีปริมาณน้ำเพียง 30% ส่วนแม่น้ำเลยแห้งขอดตื้นเขินมานานกว่า 1 เดือนแล้วส่ลผลให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังบ้านวังโป่ง เดือดร้อนหนักไม่มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส.ที่กู้ยืมมา ขณะที่อ่างทองแล้งหนัก จนพบ "สันดอน" โผล่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ปภ.ประกาศพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศแล้ว 15 จังหวัด เร่งระดม จนท. รถบรรทุกน้ำช่วยประชาชน วอนเกษตรกรงดทำนาปรัง

วันนี้ (27 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศขณะนี้ว่า หลายจังหวัดกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะที่ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวมของ จ.ขอนแก่น หลายพื้นที่เริ่มประสานขอรับการช่วยเหลือทั้งน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำดิบตื้นเขิน

ประกอบกับระบบประปา หรือบ่อน้ำในชุมชนส่วนใหญ่ขาดการดูแลรักษา และฤดูฝนเกิดภาวะฝนหยุดตกแบบทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ภาวะความแห้งแล้งเกิดขึ้นเร็ว และคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้สถานการณ์แล้งจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานจะต้องเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัดกำหนด เพื่อยืดระยะเวลาและการจัดสรรน้ำให้กระจายครอบคลุมอย่างทั่วถึง

ส่วนพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีปัญหาแหล่งน้ำดิบตื้นเขิน ระบบบาดาล หรือประปาหมู่บ้านมีปริมาณน้ำน้อย ก็ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปแก้ปัญหาช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจสภาพปริมาณน้ำเก็บกักโดยเฉพาะภายในเขื่อนอุบลรัตน์ และระบบชลประทานในภาพรวมของจังหวัด รวมทั้งการสำรวจแหล่งน้ำสาธารณะที่เป็นหัวใจหลักของการบริหารจัดการน้ำทั้ง 14 แห่ง ณ ตอนนี้ถือว่ามีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงพอสำหรับการจ่ายน้ำให้กับพื้นที่ในเขตชลประทาน รวมไปถึงการจ่ายน้ำในพื้นที่ชุมชนสำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่อให้มีน้ำดื่ม-น้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งของปีนี้

อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือไปยังกลุ่มเกษตรกรให้ระงับการทำนาปรังหรือการปลูกพืช ทางการเกษตรในระยะนี้ เพราะปัญหาแล้งภาวะฝนทิ้งช่วงจะทำให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร

**"ลำน้ำชี" ที่ชัยภูมิแห้งขอดทั้งสาย

ส่วนที่ จ.ชัยภูมิ เริ่มส่อวิกฤตอย่างต่อเนื่อง หลังจากพบว่าภัยแล้งในปีนี้มาเร็วและรุนแรงกว่าทุกปี แม่น้ำชี น้ำในคลองหลายพื้นที่แห้งขอด ประกอบกับน้ำในเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บกักน้ำก็เหลือน้อยลง ชาวบ้านในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรกันแล้ว

ล่าสุดทางจังหวัดต้องประกาศ 3 ตำบล 1 อำเภอ คือ ต.โนนสะอาด ต.หนองขาม ต.ยางหวาย และ 1 อำเภอ คือ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว เรื่องการเกษตรได้ประกาศให้งดปลูกโดยเด็ดขาดทุกพื้นที่แล้วด้วย

นายมนชัย สวัสดิวารี ชลประทานจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้มาเร็วกว่าทุกปี ลำน้ำชีแห้งขอดเร็วมาก ซึ่ง จ.ชัยภูมิ มีสถานีวัดน้ำและสูบน้ำ เพื่อมาช่วยทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งมากกว่า 100 แห่ง แต่ตอนนี้กลับไม่สามารถใช้ได้แล้ว เพราะน้ำในลำน้ำชี เหลือแห้งขอดตลอดทั้งสาย ที่ผ่าน จ.ชัยภูมิ จนไม่สามารถวัดอะไรได้แล้ว ถือว่าลำน้ำชีทั้งหมดเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ซึ่งทุกคนจะต้องช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ ให้ผ่านวิกฤติภัยแล้งปีนี้ให้ได้

**ผู้เลี้ยงปลากระชังบ้านวังโป่ง เดือดร้อนหนัก

ส่วนในพื้นที่ จ.เลย สถานการณ์ภัยแล้งได้ขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งในปีนี้มาเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแม่น้ำเลยที่ไหลผ่าน อ.ภูหลวง อ.วังสะพุง อ.เมืองเลย และ อ.เชียงคาน ได้เกิดแห้งขอดตื้นเขิน จึงทำให้น้ำที่จะนำมาทำเป็นน้ำดิบผลิตเป็นน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร เริ่มขาดแคลนในบางแห่ง และบริเวณอ่างเก็บน้ำหลายแห่งน้ำแห้งขอดลดลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีอ่างเก็บน้ำบางแห่งไม่สามารถนำน้ำส่งไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรกรที่ปลูกพืชอายุสั้นของเกษตรกรได้

นอกจากนี้ ภัยแล้งยังมีผลกระทบต่อเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเลยที่บ้านวังโป่ง ต.ศรีสองรัก อ.เมืองเลย แม่น้ำเลยเกิดแห้งขอด ตื้นเขินมานาน 1 เดือนแล้ว แต่เดิมมีเกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังจำนวน 500 กระชัง ปัจจุบันยังมีเกษตรกรที่ยังสุ่มเสี่ยงเลี้ยงอยู่ประมาณ 50-70 กระชังเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรส่วนมากได้กู้ยืมจากธนาคาร ธ.ก.ส.มาลงทุนเลี้ยงปลากระชังรายละ 50,000- 100,000 บาท จนเกษตรกรหลายรายได้รับความเดือดร้อนไม่มีเงินไปใช้หนี้ ต้องไปทำเรื่องขอพักการชำระหนี้กับทางธนาคาร ธ.ก.ส.ไว้ก่อน

**เจ้าของปลากระชังเขื่อนลำปาวเลิกกิจการเพียบ

เช่นเดียวกับในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จากการติดตามปัญหาความแห้งแล้ง นอกจากจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ล่าสุดยังไปกระทบกับอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังเขื่อนลำปาว ที่จะนำลูกปลามาเพาะเลี้ยงในอ่างเพื่อทำกำไร แต่ในปีนี้พบว่า ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังหลายร้อยรายทยอยปิดกิจการ

นายจำปา จันทรผล อายุ 62 ปี ผู้ประกอบการเลี้ยงปลาในกระชัง ต.นาเชือก อ.ยางตลาด กล่าวว่า นอกจากผลกระทบจากราคาหัวอาหาร และตัวลูกปลาที่แพง สาเหตุหลักที่ต้องเลิกกิจการเกิดจากภัยแล้ง ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ ประสบปัญหาติดต่อกันเป็นปีที่ 3 เพราะอ่างเก็บน้ำไม่สามารถกักเก็บได้ และส่วนใหญ่มีสภาพตื้นเขิน ไม่เว้นแม้แต่เขื่อนลำปาว จึงทำให้ผู้เลี้ยงปลาทนต่อความเสียหายไม่ไหว อพยพตัวเองไปค้าแรงงานในเมืองกรุง

ปัจจุบัน การเลี้ยงปลาในกระชังเขื่อนลำปาว เหลือเพียง 3 รายใหญ่ ส่วนรายเล็กหันไปหาปลาแทนการเพาะเลี้ยง ส่งผลให้ปลากระชังในพื้นที่เหลือน้อย ซึ่งคาดว่าในอนาคต ราคาเนื้อปลากระชังสดจะมีราคาแพงกว่าปกติถึงร้อยละ 30

**สุรินทร์แล้งหนักนาขาดน้ำกว่า 500 ไร่

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ จ.สุรินทร์ ส่อความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นเช่นกัน หลังจากน้ำในหนองน้ำสาธารณประโยชน์ และหนองน้ำธรรมชาติ มีระดับน้ำลดลงอย่างมาก หนองน้ำแห้งขอด ขณะที่ต้นข้าวในนาปรังขอเกษตรกรนอกเขตชลประทานในพื้นที่ ต.คอโค อ.เมืองสุรินทร์ ต้นข้าวเริ่มแห้งเนื่องจากขาดน้ำ ในขณะที่นาปรังของเกษตรกรในเขตชลประทานต้นข้าวเขียวและมีความสมบูรณ์ เนื่องจากได้รับน้ำอย่างเพียงพอ

เบื้องต้น เกษตรกรต้องเร่งสูบน้ำที่คงค้างในคลองส่งน้ำเข้านาปรัง เพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวแล้ว ขณะที่ชาวบ้านที่เลี้ยงโค-กระบือ กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งเช่นกัน หญ้าและน้ำดื่มของโค-กระบือ ขาดแคลน

**"เพชรบูรณ์" เหลือน้ำเก็บในอ่างเพียง 30%

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งใน จ.เพชรบูรณ์ ก็เริ่มส่อว่าจะมีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ หลังจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บกัก 8 แห่งที่อยู่ในความดูแลของทางชลประทานจังหวัด เหลือน้ำเก็บกักไม่ถึง 30% ในขณะที่อ่างเก็บน้ำบางแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยเฉลียงลับ ต.นาป่า อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งมีขนาดความจุราว 7.8 ล้านลูกบาศก์เมตร และให้บริการน้ำในพื้นที่การเกษตรกว่า 7,500 ไร่ ขณะนี้เหลือปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 10% ของความจุส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเกิดแห้งขอด จนสันตะกอนดินโผล่ให้เห็นตามพื้นอ่างเป็นบริเวณกว้าง โดยคาดว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 2 เดือน ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำห้วยเฉลียงลับ จะเกิดการแห้งขอด

อย่างไรก็ตาม ทางชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำอ่างเก็บกักทั้ง 8 แห่ง ซึ่งส่อจะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำเหลือน้อย ไม่เพียงพอต่อฤดูกาลทำนาปรังในเขตพื้นที่ชลประทาน ที่มีอยู่ทั้งหมดราว 95,500 ไร่ ซึ่งอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาอีกด้วย

**ตากประสานหน่วยทำฝนหลวงแก้แล้ง

ส่วนที่ จ.ตาก นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ประกาศให้ 9 อำเภอใน จ.ตาก ประกอบด้วย อ.เมือง อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.แม่ระมาด อ.บ้านตาก อ.สามเงา อ.วังเจ้า อ.ท่าสองยาง และ อ.อุ้มผาง เป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้ง พร้อมกับกล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือมีหนังสือแจ้งมายังฝ่ายปกครองจังหวัดตากว่า ตามที่มีเขตพื้นที่ จ.ตาก และเขตภาคเหนือ ประสบสภาวะฝนแล้งและปัญหาหมอกควันในช่วง ก.พ.- เม.ย.57 ประกอบกับพื้นที่เหนือ เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา มีน้ำไหลเข้าน้อย และมีน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปกติ ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งนี้

ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุมัติหลักการในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วตั้งแต่วันนี้ โดยมีการตั้ง ณ กองบินเกษตร จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพร้อมเคลื่อนที่ไปทำฝนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จัดชุดเฝ้าระวังอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยจะทำการติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนต้องการฝนของประชาชนในจังหวัดที่รับผิดชอบ และวิเคราะห์เพื่อการทำฝนหลวงทุกวัน ซึ่ง จ.ตาก เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในการเตรียมการทำฝนหลวง

**ภัยแล้งลามสตูลชาวบ้านได้รับผลกระทบเพียบ

วันเดียวกันที่ห้องประชุมโต๊ะหยงกง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสตูล นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จ.สตูล ประจำปี 2557 เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคน้ำ น้ำใช้ในการเกษตร

เบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสตูลเร่งรวบรวมข้อมูลสถิติความเดือดร้อนของประชาชนใน 7 อำเภอของจังหวัดสตูลอย่างละเอียด เพื่อจะได้เตรียมการขอฝนหลวงจากกรมฝนหลวง และการบินเกษตรที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้เป็นการเฉพาะ

นอกจากนั้นยังให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูลองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)สตูล กองพันทหารราบที่2 กรมทหารราบที่ 5 หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 45 สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดสตูลแขวงการทางสตูล เป็นต้น เร่งจัดสรรรถยนต์บรรทุกน้ำ/ เครื่องจักรให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วนรวมทั้งยังให้ทางสำนักงานการประปาภูมิภาค สาขาสตูลเร่งสนับสนุนน้ำประปาให้กับส่วนราชการที่เข้าไปขอนำออกไปแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเต็มที่ด้วย

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.สตูล ขณะนี้ในพื้นที่ 7 อำเภอของ จ.สตูลนั้นภัยแล้งเริ่มคุกคาม มีหลายหมู่บ้านที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมู่บ้านพื้นที่ราบสูงบน ส่วนในทะเลอันดามัน ในพื้นที่ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง นั้นพบว่าสระน้ำตามหมู่บ้านต่างๆ กำลังแห้งขอด ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 1 ,500 ครัวเรือน รวมกว่า 4,312 คน โดยน้ำในพื้นที่นี้ต้องใช้ไม่น้อยวันละกว่า 10,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่ อ.เมืองสตูล ขณะนี้ประสบภัยแล้ง 9 ตำบล 42 หมู่บ้าน ประชากรเดือดร้อน 2,1356 คน รวม 5,665 ครัวเรือน

**สันดอนโผล่กลางเจ้าพระยาที่อ่างทอง

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.อ่างทอง เริ่มส่อเค้าความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสะพานวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง พบว่าขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงจนสันดอนกลางแม่น้ำโผล่แล้วหลายจุด รวมไปถึงเหล็กรอสูงประมาณ 1 เมตรที่กรมเจ้าท่าได้จัดสร้างเพื่อชะลอการพังทลายของตลิ่งจากการกัดเซาะของน้ำ ซึ่งปกติอยู่ใต้น้ำกลับโผล่มาให้เห็นกว่าครึ่งต้น ทำให้ทราบถึงระดับน้ำว่า มีเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่เป็นวงกว้าง ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเตรียมหาแหล่งน้ำในการทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งแล้วโดยทางชลประมานจะทำการหยุดจ่ายน้ำให้เกษตรในวันที่ 1 มี.ค.นี้

ขณะที่นายสุรัตน์ เกิดมะลิ ประมงจังหวัดอ่างทอง ได้แจ้งเตือนผู้เลี้ยงปลากระชังบริเวณคลองโผงเผง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทองว่า ช่วงนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ลดระดับลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำทะเลหนุน ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระซัง เตรียมการรับสภาวะวิกฤตปลาขาดออกซิเจน โดยให้รีบเร่งจับปลาที่ได้ขนาดจำหน่ายออกก่อน และให้ทำร่มเงาให้ปลาเนื่องจากแสงแดดนั้นแรง และอากาศร้อนจัด รวมทั้งควรให้อาหารปลาลดน้อยลงจากเดิม 50% เนื่องจากอาหารที่เหลือจะตกค้างทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ซึ่งจะทำให้ปลาเป็นโรคตามมา อีกทั้งยังให้เตรียมการใช้เครื่องเพิ่มออกซิเจนให้แก่ปลาเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย

"หากพื้นที่ใดมีปัญหา เกษตรกรสามารถแจ้งหรือเข้าไปปรึกษาได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ หรือสำนักงานประมงจังหวัดอ่างทอง ได้ทุกวันยินดีให้คำปรึกษาและการแก้ปัญหาให้แก่ผู้เลี้ยงปลากระชังในฤดูแล้งนี้"

**กรุงเก่าภัยแล้ง เริ่มทวีความรุนแรง

ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพอยู่ริมคลองชลประทานบ้านลี่ใน อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเช่น หลังระดับน้ำในคลองชลประทานที่มีความยาวกว่า 10 กิโลเมตรแห้งขอด กำลังส่งผลกระทบพื้นที่ทางการเกษตรในหลายหมู่บ้าน

ขณะที่นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ประกาศเตือนเกษตรกรในหลายพื้นที่ ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วงนี้ให้งดทำการเกษตรชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มาเร็วกว่าปกติ ส่งผลกระทบทั้งน้ำใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภค

**ปภ.ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้ว 15 จังหวัด

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.56 ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)แล้ว 15 จังหวัด รวม 59 อำเภอ 338 ตำบล 2,667หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น และศรีสะเกษ ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรีสระบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และปราจีนบุรี ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ ตรัง

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ห่วงใยผู้ประสบภัยแล้ง จึงได้มอบหมายให้ ปภ. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสำรวจจัดทำฐานข้อมูลประกอบการบริหารจัดการน้ำและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง ตลอดจนระดมกำลังเจ้าหน้าที่ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล เป็นต้น ประจำตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ออกให้บริการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ และให้การบริหารจัดการน้ำที่มีจำกัดเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า จากการประสานข้อมูลสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า มีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 44,950 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 64 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 21,447 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 46 มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีปริมาตรน้ำ 42,569 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 จำนวน 2,381 ล้านลบ.ม.

อย่างไรก็ตามแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำกักเก็บรวม 11,930 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ เป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 5,234 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุ รวมทั้ง 4 อ่างฯ

ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย งดเว้นการทำนาปรัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ

สถานการณ์ภัยแล้งใน จ.ขอนแก่น ขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.อ่างทอง ลดลงอย่างต่อเนื่องจนสันดอนโผล่กลางแม่น้ำ

กำลังโหลดความคิดเห็น