xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมชาวบ้านราชบุรีสร้างฝายชะลอน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราชบุรี - มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทหารจากกองพลพัฒนาที่ 1 กรมการทหารช่างราชบุรี ชาวบ้าน และนักเรียนโรงเรียนวัดสันติการาม ในตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ 4 ฝาย เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่

เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ (27 ก.พ.) ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยทหารจากกองพลพัฒนาที่ 1 กรมการทหารช่างราชบุรี ร่วมกับชาวบ้านหลายหมู่บ้าน และนักเรียนโรงเรียนวัดสันติการามใน ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ 4 ฝาย บริเวณหมู่ที่ 16 เขตติดต่อหมู่ที่ 11 บ้านหนองวัวดำ หมู่ 10 บ้านหนองตาจอน และหมู่ที่ 7 บ้านโป่งเก้ง ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่

ดร.รอยล เปิดเผยว่า พื้นที่บ้านหนองตาจอน เป็นพื้นที่แห้งแล้งฝนไม่ค่อยตก แต่เดิมพื้นที่นี้ชาวบ้านจะเก่งเรื่องปลูกผักเพื่อส่งขายตลาดศรีเมืองที่เป็นตลาดใหญ่ ในพื้นที่จะมีโครงการในพระราชดำริบางส่วนได้นำมาลงแล้ว หลังจากมีชาวบ้านถวายฎีกาเข้าไป จากการลงพื้นที่พบว่ายังไม่ครบ มีการแก้ปัญหาได้เพียงบางส่วน หากจะแก้ไขได้ทั้งหมดยังมองไม่เห็น

หลังจากเข้ามาดูพบว่า ชาวบ้านเก่งเรื่องการปลูกผักขาย แต่ยังขาดเรื่องน้ำ บางส่วนมีฝายอยู่แล้ว 2 ตัว แต่อ่างเก็บน้ำยังไม่มี มีสระของกระทรวงมหาดไทย เป็นสระเก่าพื้นที่กว่า 10 ไร่ การส่งน้ำยังไม่เชื่อมติดต่อกัน จึงเห็นลู่ทางเลยมาร่วมกับชาวบ้านทำตามแนวทางพระราชดำริ พื้นที่นี้เวลาฝนตกมีน้ำท่วม ไม่มีระบบน้ำที่เชื่อมต่อกับสระของเดิม

แต่ปัญหาคือพื้นที่นี้มีลักษณะคล้ายภาคอีสานสูงๆ ต่ำๆ โดยพื้นที่ที่สร้างฝายนี้เป็นป่าที่เสื่อมโทรมอยู่แล้ว ฝายตัวนี้ทำตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ไม่ได้ใช้เป็นตัวเก็บ แต่ใช้เป็นตัวหน่วงน้ำทำให้น้ำในดินที่อยู่ในป่าในไหล่เขาดีขึ้น พอน้ำในป่าดีขึ้นหน่วงเอาไว้ได้นานขึ้นป่าก็จะดีขึ้น

จุดประสงค์แรกต้องการให้ป่าดีก่อน เมื่อป่าเริ่มฟื้นแล้วกลับไปเป็นป่าดิบแล้งเหมือนสมัยก่อน ที่จะมีป่าไม้จำพวกป่าเต็งรังขึ้นจนเต็มพื้นที่จากการชะลอหน่วงน้ำ เมื่อป่าดีขึ้นก็จะส่งผลให้การเก็บน้ำดีขึ้นตามมา

“ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ได้ร่วมทำกับชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี กรมการทหารช่าง สนับสนุนเงินไม่มาก มีแรงงานบางส่วน และเทคนิคการทำแผนที่ การวัดระดับ การใช้จีพีเอส ร่วมกันสร้างรวม 4 ตัว ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีแหล่งชะลอ และหน่วงน้ำ อนาคตจะกลายเป็นป่าดิบแล้งคืนมา ตามแนวพระราชดำริช่วยเหลือเกษตรกร และชาวบ้านมีน้ำใช้ในระยะยาว” ดร.รอยล กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น