พิษณุโลก - “บิ๊ก บสย.” จับมือ มน.-สภาอุตฯ ตาก ปั้นเถ้าแก่ใหม่เจาการค้า-ท่องเที่ยวชายแดนไทย-พม่า รับวิกฤตการเมืองไทย ทำเศรษฐกิจทรุด ยอดค้ำประกันสินเชื่อลด 50% แบงก์-SMEs ผวา ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง “ข้าว” สะดุดเป็นลูกโซ่ หลังเงินจำนำข้าวไม่ออก รากหญ้าขาดกำลังซื้อ
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวหลังร่วมลงนามความร่วมมือโครงการ “ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสู่ตลาดการค้าและการท่องเที่ยวเขตชนแดนไทยพม่า” กับมหาวิทยาลัยนเรศวร และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ว่าโครงการความร่วมมือดังกล่าวจะส่งเสริมการถ่ายทอดกลยุทธ์วางแผนการเงิน ธุรกิจการค้าชายแดนให้แข็งแกร่งขึ้น ตามกำหนดระยะเวลา 2 ปี ครอบคลุมผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะจาก UBI มหาวิทยาลัยนเรศวร, ผู้ประกอบการเครือข่ายสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก(สมาชิก 94 ราย) และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวค้าชายแดนไทย-พม่า
โดยความร่วมมือครั้งนี้เน้นทำแผนธุรกิจการลงทุน เรียนรู้ด้านการส่งออก สนับสนุนและให้คำปรึกษาให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงินกับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดรอบความเติบโตเศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า
นายวัลลภได้ให้ความเห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้อีกว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยช่วงนี้ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน คือช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บสย.วางเป้าการค้ำประกันสินเชื่อ 12,000 ล้านบาท แต่กลับพบว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อลดลงเหลือ 6,000 ล้านบาท หรือครึ่งหนึ่ง เพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนถดถอยลง ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบรายใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น
ขณะที่ลูกค้าเดิมๆ ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ จากวงจรระบบรับจำนำข้าวที่ชะงัก เพราะเงินโครงการรัฐไม่กระจายสู่รากหญ้า ทำให้ผู้ค้าหรือผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) เช่น ร้านปุ๋ย ร้านเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรฯลฯ ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน
“โครงการ PGS5 ของ บสย.มีวงเงินพร้อมจะสนับสนุนผู้ประกอบการมากถึง 180,000 ล้านบาท ก็ยังเหลือ ซึ่งสถานการณ์ช่วงนี้นักลงทุนไม่กล้าและขาดความเชื่อมั่น ยอดสินเชื่อถดถอย บสย.เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย”