พะเยา - เถ้าแก่ไซโลนำเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดพะเยาบุกทวงเงินชดเชยถึงศาลากลางจังหวัดฯ โวยเกษตรกรที่นำผลผลิตขายไซโลอื่นได้กันหมด แต่ชาวไร่อำเภอปงไม่ได้ หวั่นชวดเหมือนเงินจำนำข้าว
วันนี้ (21 ก.พ.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด อ.ปง จ.พะเยา และผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดกว่า 200 คน นำโดยนายจิรภาส เลิศฤทธิ์ปัญญากุล เจ้าของโซโลจิรภาส ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ปง ได้พากันเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา เพื่อทวงถามเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพ และบริหารจัดการรับซื้อข้าวโพดกิโลกรัมละ 1.5 บาท ตามมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล
นายจิรภาสกล่าวว่า ตนและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด อ.ปง มาวันนี้เพื่อทวงถามความคืบหน้าการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพ และบริหารจัดการกิโลกรัมละ 1.5 บาท ตามมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาลว่าทำไมยังไม่มีการเบิกจ่าย ถึงมือเกษตรกรจำนวนกว่า 500 รายที่นำรวมผลผลิตกว่า 8,901 ตันที่เข้าร่วมโครงการกับทางไซโลจิรภาส ขณะที่ไซโลอื่นได้เงินกันไปแล้ว
เนื่องจากทำให้เกษตรกร รวมถึงไซโลได้รับผลกระทบ เพราะเกษตรกรไม่เชื่อมั่นไซโล คิดว่าเข้าร่วมกับไซโลแล้ว เจ้าของไม่ติดตามการเบิกจ่ายเงิน จนกลัวจะไม่มีการจ่ายเงิน เหมือนโครงการรับจำนำข้าวที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้
ต่อมานางเฟื่องฟ้า ตุลาธรรมกุล พาณิชย์จังหวัดพะเยา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เชิญตัวแทนเกษตรกรจำนวน 30 คนเข้าชี้แจงข้อเรียกร้อง และแจ้งความคืบหน้าการเบิกจ่ายเงิน ที่ห้องศูนย์บัญชาการศาลากลางจังหวัดพะเยา ว่า จังหวัดพะเยาได้รับโควตาแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 95,000 ตัน เป็นเงิน 142 ล้านบาท อ.ปงได้โควตา 39,000 ตัน หรือเท่ากับร้อยละ 40 ของโควตาจังหวัด
ส่วนเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพ และบริหารจัดการกิโลกรัมละ 1.5 บาท ยืนยันว่ารัฐบาลจ่ายเงินมาครบ และมีเงินอยู่แน่นอน ขอให้เกษตรกรสบายใจได้ เพียงแต่การเบิกจ่ายเงินล่าช้าไปบ้าง
เพราะขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบเอกสารเกษตรกรคือ สำนักงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ซึ่งจะต้องตรวจอย่างรอบคอบและต้องใช้เวลาก่อนส่งมาให้พาณิชย์จังหวัดเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด หรือ คพจ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติ จึงจะสามารถเบิกจ่ายเงินให้เกษตรกรได้
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเงินดังกล่าวจะสามารถจ่ายให้เกษตรกรได้ภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน และทั้งจังหวัดก็จะเสร็จสิ้นภายในไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคม 57 นี้เช่นกัน
หลังได้รับการชี้แจง กลุ่มเกษตรกรก็ได้แยกย้ายกันเดินทางกลับในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ มาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล ซึ่งรับซื้อผลผลิตที่ความชื้น 30% กิโลกรัมละ 7 บาท และความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 9 บาท และรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้กิโลกรัมละ 1.50 บาท