เชียงราย - ผู้ว่าฯ นำทีมแจงตัวแทนสภาเกษตรกรเชียงราย ยันรัฐเปิดประมูลได้แหล่งกู้แล้ว พร้อมโอนเงินจำนำข้าวสัปดาห์ละ 2 หมื่นล้าน สิ้น มี.ค.ได้ครบทั่วประเทศแน่ บอกไม่ต้องกลัว เงินมีเยอะได้ แต่ขออย่าร่วมม็อบกรุงเทพฯ
วันนี้ (30 ม.ค.) สมาชิกสภาเกษตรกร จ.เชียงราย ประมาณ 100 คน นำโดยนายกิตติพงษ์ ฉัตรหลวง ประธานสภา นายศักดิ์ชัย จงสุทธนามณี ที่ปรึกษา พร้อมด้วยสมาชิก ยื่นหนังสือขอความคืบหน้าต่อนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กรณีชาวนาและชาวไร่ที่ปลูกข้าวและข้าวโพดยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวตามโครงการรับจำนำฤดูนาปี 2556/2557 และโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีเดียวกัน
รวมทั้งยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหายางพาราราคาตกต่ำ โดยแม้แต่ยางก้อนถ้วยก็มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 22-23 บาท พ่วงด้วยปัญหาเงินช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ที่คงค้างอีกเป็นจำนวนมากด้วย
ต่อมานายพงษ์ศักดิ์ พร้อมด้วยนายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัด น.ส.ศุภมิตร อิสรานุเจริญกุล การค้าภายในจังหวัด นายสมศักดิ์ แปงการิยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เชียงราย ร่วมชี้แจงข้อมูล
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาการจ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้าเพราะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนรัฐบาลต้องยุบสภากลายเป็นรัฐบาลรักษาการ ต่อมาต้องสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสามารถกู้ยืมเงินไปให้ชาวนาได้หรือไม่ เมื่อได้คำตอบแล้วจึงเดินหน้าดำเนินการได้ ด้วยการหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งตามปกติให้รัฐบาลกู้ไม่มีขาดทุน และสถาบันการเงินธนาคารล้วนอยากให้รัฐบาลกู้ เพราะจะได้รับเงินคืนแน่นอนเนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีในแต่ละปีมั่นคง
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เปิดประมูลให้ธนาคารเสนอเงื่อนไขให้กู้ เพื่อเลือกที่ให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าธนาคารใด ไม่เช่นนั้นอาจถูกต่อต้านได้ โดยเงินที่ต้องนำไปจ่ายชาวนามีประมาณ 100,000 ล้านบาททั่วประเทศ ปัจจุบันประมูลกู้เงินได้แล้ว และจะค่อยทยอยจ่ายแน่นอน ไม่ต้องห่วงว่าไม่มีเงินดังนั้นจึงไม่ต้องไปปิดถนน หรือไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่องการเมืองว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ส.ส.อีก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าว หรือบางครั้งตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองไปเลย
ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำกับ ธ.ก.ส. 7,4760 ราย มูลค่า 6,715 ล้านบาท ได้รับเงินไปแล้ว 3,524 ล้านบาท หรือร้อยละ 60 คงเหลือ 3,191 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาล โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ประมูลให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้เป็นงวดได้แล้ว โดยสถาบันการเงินจะจ่ายให้สัปดาห์ละประมาณ 20,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ก็จะแล้วเสร็จทั้งหมด
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เม็ดเงินนำร่องที่ได้มาทั่วประเทศคือประมาณ 1,000 ล้านบาท ถูกส่งมาให้ 8 จังหวัดภาคเหนือประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับเชียงรายได้รับ 53 ล้านบาทซึ่งมากกว่าทุกจังหวัด ตอนนี้ได้ทยอยจ่ายให้ชาวนาแล้ว
ขณะที่สภาเกษตรกร จ.เชียงรายยังได้สอบถามเรื่องเงินค่าชดเชยตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2556/2557 มีปริมาณข้าวโพดที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 157,067.35 ตัน มูลค่าประมาณ 235,601,029.40 บาท ที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรให้แล้ว 103,818,433.50 บาท คงเหลือที่ไม่ได้จ่ายอีก 131,782,595.9 บาทนั้น ปัจจุบันมีเงินเข้ามาอีก 79 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยจ่ายให้ครบถ้วนต่อไป
ซึ่งเมื่อได้รับคำชี้แจงแล้ว ทางสภาเกษตรกรแจ้งว่าจะนำคำตอบที่ได้ไปแจ้งให้เกษตรกรได้รับทราบ จากนั้นจะนำกลับไปประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวต่อไป
นายกองคำ ถาวร ตัวแทนเกษตรกร อ.พาน กล่าวว่า อยากสอบถามทางจังหวัดว่า ส.ส.เชียงรายที่ได้รับการเลือกตั้งไปทั้ง 7 คน ได้เข้าไปสอบถามหรือหารือกับทางจังหวัดเพื่อติดตามหรือช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาไม่ได้รับเงินดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะช่วงหาเสียงเลือกตั้งมีการหาเสียงเอาไว้ดีมาก แต่หลังจากนั้นก็ไม่ทราบข่าวคราวอีกเลย