xs
xsm
sm
md
lg

ทีมดับไฟป่าลำปางครวญหนัก ขาดงบ-อุปกรณ์ป้องกัน ต้องควักกระเป๋ากันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - เจ้าหน้าที่-ทีมจิตอาสาดับไฟป่าเมืองรถม้าวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัวระหว่างลงสนามดับไฟป่า สกัดหมอกควันที่โผล่ไม่หยุด แต่ไร้อุปกรณ์ป้องกัน แถมยังต้องควักกระเป๋าตนเองอีก

วันนี้ (18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวขึ้นทำให้สถานการณ์ไฟป่าบนดอยพระบาท ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง และแนวป่าใกล้เคียงเกิดไฟป่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงบ่ายวานนี้ (17 ก.พ.) มีไฟป่าเกิดขึ้นหลายจุด และลุกลามเป็นวงกว้างทำให้มีกลุ่มควันไฟลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเห็นได้อย่างชัดเจน

ซึ่งบริเวณดอยพระบาทถือว่าเป็นแนวเขาสูงที่อยู่ใกล้ตัวเมืองลำปางเพียง 7 กิโลเมตร และอยู่ใกล้ศูนย์ราชการเพียง 3 กิโลเมตร ทำให้มีควันไฟลอยปกคลุมแนวเขาดอยพระบาทในระดับที่หนาแน่น

ด้านทีมจิตอาสาดับไฟป่าของเครือข่ายเฮาฮักม่อนพระยาแช่ และเครือข่าย WE LOVE THE KING WE LOVE THAILAND นครลำปาง นำโดยนายเสกสรรค์ แดงใส พร้อมสมาชิกรวม 7 คน ได้เดินลุยเท้าขึ้นภูเขาบนดอยพระบาท ด้านหลังศาลากลางจังหวัดฯ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ ลมแรง

นายเสกสรรค์ได้ให้ทุกคนสวมหน้ากากป้องกันควันชนิดพิเศษ ซึ่งได้รับบริจาคมาจากแพทย์จิตอาสา กรุงเทพฯ ที่จัดส่งมาให้จำนวน 50 ชุด เพื่อใช้สวมใส่ในการออกปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากควันไฟป่ามีจำนวนมาก ผ้าหรือแผ่นอนามัยที่ใช้ปิดจมูกแบบธรรมดาไม่สามารถปิดกั้นได้ พร้อมนำไม้ตบเข้าทำการดับไฟตามเชิงเขาเกือบตลอดทั้งวัน จนสามารถดับไฟบนดอยไปได้แล้วสองลูก เหลืออีกหนึ่งลูก

แต่ปรากฏว่าหน้ากากที่สวมใส่ถูกไฟป่าที่มีความร้อนมากจนหลอมละลาย หงิกงอจนสวมไม่ได้

ทางด้านศูนย์รับแจ้งเหตุไฟป่าของจังหวัดลำปาง ที่กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ตั้งฐานไว้ 3 ฐาน คือ ฐานที่ 1 ตั้งอยู่ที่ม่อนพระยาแช่ ดูแลดอยพระบาทซีกตะวันตก, ฐานที่ 2 ตั้งอยู่ที่สวนรุกขชาติพระบาท ดูแลด้านสถานีโทรทัศน์จนถึงบ้านท่าโทกหัวช้าง บ้านหัวทุ่ง และฐานที่ 3 ตั้งอยู่ที่หน่วย ลป 18 แม่เมาะ ดูแลซีกตะวันออกของดอยพระบาทนั้น

ปรากฏว่ากำลังเจ้าหน้าที่ที่จะต้องออกปฏิบัติงานจริง คือ เจ้าหน้าที่สวนรุกขชาติพระบาท และม่อนพระยาแช่ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่สถานีดับไฟป่าโดยตรง แต่ก็ต้องจัดกำลังประจำฐานตามคำสั่งฐานละ 13 นาย คือ สวนรุกขชาติมีกำลัง 8 นาย ม่อนพระยาแช่มีกำลัง 9 นาย สลับเวรกันรอบละ 10 วัน ซึ่งกำลังที่มีอยู่น้อยมาก ซึ่งบางวันเหตุเกิดหลายที่และแต่ละที่ต้องเดินเท้าแทบทั้งสิ้น

เมื่อสอบถามถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงาน ทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานนอกจากได้เงินเดือนเท่าเดิมแล้วยังจะต้องมาทำหน้าที่ดับไฟเพิ่มอีก อุปกรณ์ใช้ดับไฟมีเพียงไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งมีความเบากว่าไม้ตบไฟ

ขณะที่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากกันควันพิษ หรืออื่นๆ ไม่มีให้, อาหารทุกคนต้องห่อมาจากบ้าน, น้ำมันรถที่จะต้องออกตระเวนดับไฟป่าก็ต้องใช้ของสวนรุกขชาติพระบาท, เครื่องดื่มเช่น เกลือแร่ ซึ่งมีความจำเป็นในการชดเชยน้ำที่เสียไปก็ต้องซื้อติดตัวไปเอง ฯลฯ

จนทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า งบประมาณที่หลายหน่วยงานมอบแก่ศูนย์รับแจ้งเหตุไฟป่า จ.ลำปาง เพื่อรณรงค์และใช้ในกิจกรรมดับไฟป่าหลายแสนบาทอยู่ไหน เหตุใดเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ต้องออกปฏิบัติงาน รวมถึงจิตอาสาต่างๆ จึงต้องใช้ทุนตัวเองในการออกทำงานดับไฟป่า

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ประเมินแต่ละจังหวัดในภาคเหนือจากสภาพอากาศที่เกิดความแห้งแล้ง และอาจจะทำให้ค่าเฉลี่ยหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นว่า โอกาสของสถานการณ์ยังคงมีการสะสมตัวของหมอกควันไฟ และฝุ่นละอองขนาดเล็กมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลำปางค่อนข้างน่าห่วง และต้องเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ถึงแม้อาจจะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ลดลง แต่ยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ จ.น่าน และ จ.แม่ฮ่องสอน ก็เป็นจังหวัดที่มีอัตราแนวโน้มของหมอกควันไฟ และฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้นเช่นกันเฉลี่ย 7-10%




กำลังโหลดความคิดเห็น