xs
xsm
sm
md
lg

ข้ามฝั่งเมยตามรอยชุมชนไทย 200 ปี-สัมผัสวิถีล้านนาในพม่า (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ... ทุติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจ ฉามิ ...” เสียงสวดชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) ที่ดังก้องระหว่างที่มีการทำพิธีสืบชะตาหลวง คนในบ้าน หรือชุมชนล้านนา ที่ถือปฏิบัติสืบทอดรุ่นต่อรุ่นมาหลายร้อยปี

แต่คราวนี้เสียงสวดดังขึ้น ณ สนามโรงเรียนบ้านห้วยส้าน จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมาร์ หรือพม่า ประตูการค้าสำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ที่เชื่อมพม่า ผ่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก-สปป.ลาว-ท่าเรือดานัง เวียดนาม

เป็นการสวดในพิธีสืบชะตาคนในหมู่บ้านในงานบุญวันชาติ และงานปอยฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม ปีที่ 13 ที่จัดขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. 57 และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนาก็ตามด้วยงานรื่นเริง ที่ประกอบด้วยการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีไทยล้านนา ที่มีทั้งการร้องจ๊อยซอคำเมือง จ๊อยเฮ่ย หรือจ๊อยตีข้าว (นวดข้าว) ฯลฯ

“บ้านห้วยส้าน” เป็นชุมชนหนึ่งในเมืองเมียวดี อยู่ห่างจากเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย (ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก) ไปประมาณ 18.5 กม. ซ่อนตัวอยู่หลังค่ายทหารดีเคบีเอ ที่แปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดนพม่า วันนี้มีประชากรเกือบ 5 พันคน ทั้งหมดล้วนเรียกตัวเองว่าเป็นคนไต เป็นไทยล้านนาที่ถือสัญชาติพม่า

พ่อหนานเอ๊ก มัคทายกวัดศรีบุญเรือง 1 ใน 5 หัววัดของบ้านห้วยส้าน อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ 4 บอกเล่าด้วยคำเมือง หรือภาษาเหนือ ว่า พ่อม่อน แม่ม่อน (ปู่ ย่า ตา ทวด) บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า 200 กว่าปีก่อนได้พากันอพยพโยกย้ายมาจากเชียงใหม่ ลำพูน เถิน ลำปาง แพร่ ฯลฯ เพราะไม่มีเงินเสียภาษี ที่ทางการสยามเรียกเก็บ 3-4 บาท ไม่แน่ใจเป็นค่าหัวไร่ปลายนา หรือภาษีอะไรเหมือนกัน

สมัยนั้น เมื่อมาเห็นบ้านห้วยส้านอุดมสมบูรณ์ ก็พากันลงหลักปักฐาน ถางไร่ไถนาอยู่สืบลูกสืบหลาน กลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีการก่อตั้งวัดขึ้น 5 หัววัด วัดแรกคือ วัดบัวสุวรรณ ก่อนที่จะมีการสร้างวัดศรีบุญเรืองเป็นวัดที่สอง ตามด้วยวัดสว่างอารมณ์ วัดสุวรรณคีรี และวัดป่าเรไร มีโรงเรียนบ้านห้วยส้าน ที่สอนตามหลักสูตรของพม่า ถึงชั้น 9 (ม.3)

ขณะที่ทางหลวงพ่อที่วัดก็จะสอนภาษาไทยให้ในวันหยุด จนปัจจุบันคนรุ่นหลาน เหลน โหลน พูด (ภาษาเหนือ หรือคำเมือง) เขียนตัวอักษรภาษาไทยได้กันเป็นส่วนใหญ่

“สืบสายกันดูแล้ว ทุกวันนี้หลายคนก็ยังมีญาติพี่น้องอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของเมืองไทย แต่เฮา (เรา) มีสัญชาติพม่า มีแต่ชื่อ ไม่มีนามสกุล”

สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่มีการศึกษาไว้ว่า 200 กว่าปีก่อนเป็นช่วงที่อังกฤษเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่พม่าเพื่อช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ และมีการทำสงครามกับพม่าครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2369 จนได้ครอบครองหัวเมืองมอญของพม่า ที่มีอาณาเขตติดต่อกับล้านนาในอดีต

เมื่อสิ้นสุดสงครามครั้งแรกไม่นานได้เกิดโรคระบาดขึ้นในเมืองมอญจนวัว-ควายล้มตายจำนวนมาก ข้าหลวงอังกฤษที่อยู่ในเมืองเมาะละแหม่งจึงส่งตัวแทนเจรจาซื้อช้าง โค กระบือ จากชาวบ้านถึงเมืองเชียงใหม่ มีการติดต่อค้าขายผ่านลำน้ำปิงจากเชียงใหม่-ตาก เข้าสู่แม่สอด เมียวดี ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ไปยังเมืองเมาะละแหม่ง

และการค้าระหว่างล้านนากับอังกฤษ ประกอบกับอังกฤษกำลังขยายกิจการป่าไม้ในเขตปกครองของตนเองในพม่า ทำให้มีชาวล้านนาจำนวนหนึ่งอพยพโยกย้ายจากเมืองต่างๆ ในล้านนา ไปตั้งรกรากยังดินแดนที่เป็นเสมือนหน้าด่านระหว่างล้านนากับเมืองมอญของอังกฤษ

ซึ่งหมายรวมถึงจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า นี้ด้วย

สมัยนั้นมีการใช้สันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างเมืองมอญของอังกฤษ กับล้านนา

กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าใหม่ มีการเปลี่ยนแนวเส้นแบ่งเขตจากเดิมที่ใช้สันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรี มาเป็นแม่น้ำเมย

นั่นทำให้ผืนแผ่นดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านห้วยส้าน ตกไปอยู่ในเขตของพม่า ชาวบ้านห้วยส้าน ซึ่งเป็นคนไท หรือคนไต จากล้านนาที่ได้ตั้งรกรากอยู่อย่างถาวรไปแล้ว จึงกลายเป็นคนไทยที่ตกหล่นอยู่ในดินแดนพม่าไปโดยปริยาย

ผู้ใหญ่รวย ผู้ใหญ่บ้านห้วยส้าน และผู้ช่วยฯ วุฒิชัย หรือ ไซมินโพอ่อง เล่าเสริมด้วยว่า คนไทยในพม่าไม่ได้มีเพียงบ้านห้วยส้านนี้เท่านั้น ในเมียวดีมีคนไตอยู่ทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ร่วม 2 หมื่นคน ประกอบด้วย บ้านแม่แปป, บ้านห้วยส้าน, บ้านปางกาน, บ้านหนองห้า, บ้านแม่กาใน, บ้านผาซอง, บ้านปะล้ำปะตี๋ (เมียวดี) และบ้านไฮ่ (บ้านไร่)

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านห้วยส้าน ตลอดจนหมู่บ้านคนไตในพม่าเหล่านี้เป็นหมู่บ้านปิด คนภายนอกเข้าถึงได้ยาก เพราะปัญหาการเมืองในพม่า แม้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะอยู่ห่างจากแม่น้ำเมยเข้าไปในพม่าเพียง 18.5 กม.เท่านั้น

แต่จากนี้เป็นต้นไปชุมชนคนไทล้านนาที่เรียกตัวเองว่า “ไทโยน หรือไตโยน” ในดินแดนรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า จะเปิดสู่โลกภายนอกมากขึ้น

นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ได้ติดต่อประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดีแล้ว ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า 2014 ปีที่ 15 ในวันเสาร์ที่ 22 ก.พ. 57 ที่หอการค้าฯ ร่วมกับ อบจ.ตาก และ ททท.จัดขึ้น จะนำขบวนนักปั่นเดินทางเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตคนไทยล้านนาที่ตกค้างอยู่ในประเทศพม่า ถึงบ้านห้วยส้านนี้ด้วย

ซึ่งที่นี่...คือชุมชนคนไทยล้านนา

คลิกเพื่อชมคลิป



คลิกเพื่อชมคลิป














พ่อหนานเอ๊ก มัคทายกวัดศรีบุญเรือง 1 ใน 5 หัววัดของบ้านห้วยส้าน จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า วัย 60 ปี ที่ถือเป็นคนไทยล้านนาในพม่า รุ่นที่ 4
(ซ้าย)ผู้ใหญ่รวย ผู้ใหญ่บ้านห้วยส้าน (ขวา) ผู้ช่วยฯวุฒิชัย หรือไซมิ้นโพอ่อง
(ซ้าย)นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก (ขวา)ติน ติน เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น