xs
xsm
sm
md
lg

นายกเล็กสูงเม่นชวนเลี่ยง “เกษตรพันธสัญญา” หันพึ่งเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชณภพ ไกรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลสูงเม่น จ.แพร่
แพร่ - ตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สร้างพลังเรียนรู้ขยายแนวคิดสู่ทุกชุมชนในเทศบาลตำบลสูงเม่น หวังสุขภาวะ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมไปพร้อมกัน แนะชาวนาเข้าศูนย์เรียนรู้เปลี่ยนทิศทางเลิกพึ่งพาปัจจัยภายนอก

ท่ามกลางกระแสวิกฤตจำนำข้าว และปัญหาราคาข้าวโพดในจังหวัดแพร่โดยไม่มีทางออกต้องรอรัฐบาลช่วยเหลือจนทำให้เกิดหนี้สินอย่างต่อเนื่อง นายชณภพ ไกรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองให้เข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นรอบที่สองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้สานต่อแนวนโยบายเดิมคือการฟื้นฟูหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีศูนย์เรียนรู้อยู่ที่ชุมชนบ้านท่าม้า ในเขตเทศบาลตำบลสูงเม่น เป็นแกนในการศึกษาเรียนรู้

ซึ่งระบบเศรษฐกิจการเกษตรในปัจจุบันถือว่าเดินมาถึงทางตันที่จะใช้ระบบทุนนิยมคือการเพาะปลูกขึ้นอยู่กับนายทุนหรือที่เรียกว่า “เกษตรพันธสัญญา” ซึ่งส่งผลรุนแรงแล้วต่อชาวนาและเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวในปัจจุบัน

นายชณภพ ไกรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลสูงเม่น จ.แพร่ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาว่า ต้องมีการพัฒนารอบด้าน ทั้งสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ให้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์การทำงานที่ต่อเนื่องด้วยการพัฒนาความรู้การจัดการในชุมชนโดยไม่มีการสั่งการแบบเดิมๆ อีกต่อไป แม้ว่าการพัฒนาจะดูช้าแต่การทำงานตั้งแต่สมัยแรกทำให้เห็นว่าเกิดเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน โดยมีการตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ชุมชนบ้านท่าม้า

นายชณภพกล่าวว่า ศูนย์นี้เป็นแหล่งให้ความรู้เปลี่ยนวิธีคิด ดังนั้นชาวนาและเกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนด้วยปัจจัยการผลิตนานาประการจนต้องรอพึ่งพาการพยุงราคา เช่น การจำนำข้าวเพื่อให้ได้เงินมามากๆ ถือว่าเป็นแนวทางที่ผิด ซึ่งคำตอบอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้ชาวนาที่สนใจจะพัฒนาการเกษตรของตนเองอย่างยั่งยืนน่าจะมาดูแนวทางของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เทศบาลตำบลสูงเม่นเปิดให้ความรู้อย่างเต็มที่และเต็มใจ

ข้อสำคัญคือ ชาวนาจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มีกำไรจากแนวทางวิถีการผลิตของตนเอง อย่ารอความหวังจากภายนอก เช่น รอเงินช่วยเหลือจากรัฐ รอราคาตลาดดี ซึ่งเป็นการรอจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราหันมารวมกลุ่ม ร่วมกันจัดการปัจจัยการผลิต

เช่น ค่าปรับปรุงดิน การไถพรวน จะทำอย่างไรให้ราคาต่ำลงหรือสร้างรายได้ในกลุ่ม บางอย่างอาจต้องหันไปใช้วิธีเก่าๆ ก็ได้ เช่น การเกี่ยวข้าว การเก็บข้าวใส่ยุ้ง รอราคา หรือวิธีการต่างๆ มากมายซึ่งไม่มีสูตรตายตัวอยู่ที่กลุ่มจะร่วมกันคิด ใช้ยาฆ่าแมลง หรือไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้จะทำอย่างไรต่อ จะใช้ปุ๋ยเคมีหรือไม่ใช้ ถ้าไม่ใช้จะหาวิธีอย่างไรให้ข้าวงามมีผลผลิตสูง สิ่งเหล่านี้ต้องศึกษาร่วมกันลอกเลียนแบบไม่ได้แต่ต้องเกิดจากแนวคิดทำงานร่วมกันช่วยกัน ถ้าทำได้ก็จะเป็นทางออกในการผลิตรอบต่อไป

นายชณภพกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ขณะนี้ภัยแล้งคุกคามคนเดือดร้อนก็คือชาวนา เพราะติดที่ความโลภในการได้มาซึ่งราคาข้าวที่สูงเกินจริงจากการจำนำข้าว ตอนนี้เดือดร้อนทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาที่ต้องหาน้ำให้ชาวนาก่อนข้าวฤดูนี้จะเสียหาย นี่เป็นการวางแผนการผลิตที่อยู่ในวิถีทุนยากต่อการแก้ไข ทางออกคือการต้องเปลี่ยนวิธีคิดของชาวนาเอง
นายกสูงเม่นชวนเลี่ยง “เกษตรพันธสัญญา” หันพึ่งเศรษฐกิจพอเพียง
กำลังโหลดความคิดเห็น