ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “หลินฮุ่ย” ฮอร์โมนยังลดต่ำลงอีก แถมแสดงอาการกระวนกระวายอย่างมาก ทีมพี่เลี้ยงประเมินสถานการณ์แล้วดูคล้ายช่วงก่อนออก “หลินปิง” สั่งเตรียมทีมงานและอุปกรณ์พร้อมรับมือตลอดเวลา
วันนี้ (24 ม.ค.) นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์วิจัยและการศึกษา องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ หัวหน้าคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับคำปรึกษาและความเห็นจากนักวิจัยเกี่ยวกับหมีแพนด้าชาวอเมริกันที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนอันดับ 1 ของโลกว่า การตั้งท้องของแม่หมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” ยังคงมีความหวังที่จะประสบความสำเร็จด้วยการออกลูก
ล่าสุดวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 117 ของการตั้งท้อง ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนของหลินฮุ่ยได้ลดลงมาอยู่ที่ 25 นาโนกรัมต่อมิลลิกรัมคริเอตินิน ซึ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของการตั้งท้องเข้าไปทุกทีแล้ว โดยพฤติกรรมของหลินฮุ่ยยังคงแสดงถึงการตั้งท้องและความพร้อมของการเป็นแม่อย่างเข้มข้น ทั้งการทำรัง การเลียอวัยวะเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการแสดงอาการกระวนกระวายออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้
ขณะเดียวกัน หัวหน้าคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย บอกว่า เวลานี้ความคาดหวังกับการตั้งท้องครั้งนี้จะมุ่งไปที่การรอคอยอย่างอดทน ไม่เร่งรีบ ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะว่าต้องให้เวลากับหลินฮุ่ยสักระยะหนึ่ง เพราะถึงแม้ฮอร์โมนจะลดลงแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่การคลอดอาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่ฮอร์โมนตกลงจนถึงจุดต่ำสุดถัดไปอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์
ดังนั้นเวลานี้ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ เพราะการตั้งท้องของหมีแพนด้าถือว่ามีความแปรผันสูงมาก ไม่มีข้อมูลชี้ชัดทั้งระยะเวลาการตั้งท้อง ฮอร์โมน หรือขนาดตัวอ่อน ซึ่งการที่หลินฮุ่ยตกไข่นอกฤดูกาลผสมพันธุ์ปกติ แล้วสามารถทำการผสมเทียมจนกระทั่งมีตัวอ่อนในมดลูกอย่างเวลานี้ถือว่าเป็นความโชคดีและประสบความสำเร็จอย่างมากแล้ว
สำหรับการแสดงอาการกระวนกระวายของหลินฮุ่ยนั้น นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตรบอกว่า เป็นการแสดงอาการดังกล่าวออกมามากที่สุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ระดับฮอร์โมนลดต่ำลงกว่า 40 นาโนกรัมต่อมิลลิกรัมคริเอตินิน ซึ่งจากการประเมินของพี่เลี้ยงพบว่ามีพฤติกรรมคล้ายช่วงก่อนที่หลินฮุ่ยจะออก “หลินปิง” เมื่อ 4 ปีก่อน จึงได้มีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่ในการดูแลแม่และลูกหมีแพนด้าหากจะมีการออกลูก ทั้งนี้ หากยังไม่ออกลูกก็จะมีการทำอัลตราซาวนด์สามมิติอีกครั้งในวันที่ 28 ม.ค. 57 โดยผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมด้วย