น่าน - เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด 15 อำเภอทั่วเมืองน่านรวมตัวบุกศาลากลางทวงเงินชดเชยจากรัฐบาลที่ค้างจ่ายมานาน 3 เดือน ยื่น 6 ข้อเรียกร้องผ่านผู้ว่าฯ แต่ระหว่างชุมนุมเจอเสื้อแดงสวมเสื้อสีอื่นชูป้าย “ต้าน กปปส.” จนต้องรวมตัวกันไล่พ้นพื้นที่ชุมนุม
วันนี้ (21 ม.ค.) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ 15 อำเภอของจังหวัดน่าน โดยการนำของ นายวุฒิไกร กุลกัลไชย นายกสมาคมผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดน่าน กว่า 1,000 คน รวมตัวกันที่บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดน่าน เพื่อทวงถามเงินส่วนต่างจากการแทรกแซงราคาผลผลิตข้าวโพดที่ล่าช้ามานานกว่า 3 เดือน
โดยการชุมนุมของเกษตรกรผู้ปลุกข้าวโพด 15 อำเภอเมืองน่านครั้งนี้ ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงและไม่มีแกนนำขึ้นชี้แจงการชุมนุม มีเพียงการยืนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเดือดร้อน และผลกระทบที่ได้รับ ขณะที่เกษตรกรส่วนหนึ่งพยายามค้นหารายชื่อเกษตรกรที่ได้รับเงินชดเชยจากบอร์ดที่ทางจังหวัดน่านนำมาติดไว้
เกษตรกรจากอำเภอนาน้อย และอำเภอเวียงสาเปิดเผยว่า มีเกษตรกรที่ได้รับเงินแล้วบางส่วน แต่เป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ตกหล่น และยังไม่ได้รับเงิน ทั้งที่ได้ยื่นเอกสารและการรับรองเกษตรกรจากสำนักงานเกษตรจังหวัดไปพร้อมกันแล้วตามหลักเกณฑ์ แต่ก็มีเพียงบางรายเท่านั้นที่ได้รับเงิน ซึ่งปัญหานี้เกิดจากไซโลรับซื้อเลือกปฏิบัติ ให้คนที่รู้จักกันก่อน เมื่อเงินโควตาหมดก็ทำให้มีเกษตรกรตกค้างไม่ได้รับเงิน
ขณะที่เกษตรกรรวมตัวชุมนุมที่ลานหน้าศาลากลางได้เกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้น เมื่อมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่ได้สวมเสื้อสีอื่นทั่วไปจำนวนหนึ่ง พยายามขึ้นป้ายมีข้อความว่า “ไม่ยุ่งการเมือง ไม่เอา กปปส.” และป้ายข้อความ “นกหวีด ห้ามเข้า” ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่ยืนโดยรอบบริเวณเกิดความไม่พอใจ โห่ร้องตะโกนขับไล่ทันที
โดยเกษตรกรที่มาชุมนุมต่างตะโกนว่า พวกเขามาเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ปากท้อง และ ส.ส.ไม่เคยเหลียวแล ไม่ต้องการให้กลุ่มใดมาแอบแฝง และใช้กลุ่มเกษตรกรเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดน่านต้องรีบนำตัวกลุ่มที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ทันที
นายบุญชู สมใจ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 116 หมู่ 3 บ้านนาแหน ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่มาทวงถามเงินชดเชยจำนวนกว่า 30,000 บาท ที่รอมานานกว่า 3 เดือน ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากทาง ธ.ก.ส.กำลังเร่งรัดหนี้สินที่มีอยู่กว่า 2 แสนบาท เปิดเผยว่า ทำไร่ข้าวโพดมา 34 ปี ปลูกข้าวโพด 33 ไร่ ยังมีหนี้สิน ในแต่ละปีมีรายได้จากข้าวโพด 1 แสนบาท เมื่อหักต้นทุนค่าเมล็ดเชื้อพันธุ์ ค่ายา ค่าปุ๋ย เหลือเงินเพียง 5-6 หมื่นบาทต่อปี ไม่พอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ไม่มีทางเลือก ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นที่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกว่าข้าวโพดก็อยากเปลี่ยน
ต่อมานายกาจพล เอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน, นายภาณุ ขันธ์แก้ว พาณิชย์จังหวัดน่าน และนายวุฒิไกร กุลกัลไชย นายกสมาคมผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดน่าน พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรจากทุกอำเภอ ได้ร่วมประชุมหารือกันเพื่อหาทางออก โดยกลุ่มเกษตรกรเรียกร้อง 6 ข้อ คือ
1. ให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการแทรกแซงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 56/57 ให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด ความชื้นไม่เกิน 30% ราคา 7 บาท/กก. และความชื้นไม่เกิน 14.5% ที่ราคา 9 บาท/กก. 2. ขยายเวลาให้เกษตรกรที่ได้รับใบรับรองภายหลังให้ได้รับโควตาเพิ่ม 3. ให้อาชีพการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวาระจังหวัดน่าน
4. ให้กำหนดพื้นที่ทำกินและออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรทุกราย 5. ให้ ธ.ก.ส.และ สหกรณ์ฯ ในจังหวัดน่านพักการชำระหนี้ 3 ปี และตัดดอกเบี้ยออกทั้งหมด เนื่องจากขณะนี้มีการเร่งรัดหนี้สินจากเกษตรกร ทั้งที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรอย่างมาก 6. ให้อนุมัติใบรับรองที่ยังคงค้างอยู่ออกให้แก่เกษตรกรทั้งหมด หลังขึ้นทะเบียนปี 52/53
ผลการเจรจาทางจังหวัดน่านรับปากเพียงบางข้อ เพราะข้อเรียกร้องบางข้อเกินอำนาจของจังหวัด และไม่สามารถรับปากได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของงบประมาณที่รัฐบาลต้องสนับสนุน ที่ขณะนี้ก็ยังมีปัญหาทางการเมือง เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ การอนุมัติเงินงบประมาณต้องให้ กกต.พิจารณาอนุมัติ
ซึ่งผลการเจรจาทำให้เกษตรกรที่รอฟังคำตอบเกิดความไม่พอใจ ได้พากันบุกขึ้นไปบนศาลากลางเพื่อขอพบ นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ติดภารกิจตรวจงาน ทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายขึ้น ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ต่อมานายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้เดินทางกลับมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความตึงเครียด และการเจรจานานเกือบ 1 ชั่วโมง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้รับฟังปัญหา-ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินโควตาที่รัฐบาลจ่ายผ่านไปทางไซโลฯ ที่เงินได้หมดลงแล้ว แต่ยังมีเกษตรกรที่ตกหล่นไม่ได้รับเงิน พร้อมสั่งการให้พาณิชย์-เกษตรจังหวัดน่าน ประสานกับผู้ประกอบการไซโลรับซื้อข้าวโพด เร่งตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรที่ตกหล่นจำนวนกว่า 20,000 รายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ม.ค. 57 เพื่อนำรายชื่อที่ตกหล่นทั้งหมดส่งไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาต่อไป
หลังจากนั้นกลุ่มเกษตรกรได้สลายการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับไป