ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คอนเฟิร์ม! แม่หมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” ตั้งท้องแล้ว อัลตราซาวนด์พบตัวอ่อนชัดเจนฝังตัวในผนังมดลูก แถมมีลุ้นท้องแฝด คาดอาจคลอดลูกในช่วงตั้งแต่กลางถึงปลายเดือน ม.ค.57 ใกล้ช่วงตรุษจีนพอดี เบื้องต้นจัดผู้เชี่ยวชาญ และสัตวแพทย์ดูแลใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทำคลอดทุกเวลา
วันนี้ (29 ธ.ค.) ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ นายฤทธิณรงค์ กุลประสูตร กรรมการองค์การสวนสัตว์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์กาญจน์ชัย แสนวงศ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และนายสัตวแพทย์บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หัวหน้าคณะทำงาน และผู้ประสานงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการผสมพันธุ์หมีแพนด้าที่ทำการผสมเทียมไปเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.56 ที่ผ่านมา
โดยล่าสุด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการอัลตราซาวนด์ “หลินฮุ่ย” แม่หมีแพนด้า มีการตรวจพบการฝังตัวของตัวอ่อนในผนังมดลูกของ “หลินฮุ่ย” ซึ่งเป็นการแสดงให้ว่ามีการตั้งท้องแล้ว
กรรมการองค์การสวนสัตว์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการที่ทีมงานสัตวแพทย์ทำการอัลตราซาวนด์ “หลินฮุ่ย” แม่หมีแพนด้า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.56 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจหาการตั้งท้อง พบว่ามีตัวอ่อนเกาะติด และฝังตัวในผนังมดลูกของ “หลินฮุ่ย” ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการตั้งครรภ์แล้วของแม่หมีแพนด้าตัวนี้ และเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่
โดยขณะนี้ทีมงานสัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญได้เฝ้าติดตามดูแล “หลินฮุ่ย” อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกำหนดการคลอดนั้น ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดเข้ามากระทบ คาดว่า “หลินฮุ่ย” น่าจะคลอดลูกหมีแพนด้าตัวใหม่ได้ในช่วงประมาณสิ้นเดือน ม.ค.57 ซึ่งตรงกับช่วงตรุษจีนพอดี
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้เช่นกันที่อาจจะคลอดตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.57 ก็เป็นไปได้ ทั้งนี้ ได้แจ้งข่าวนี้ให้ทางเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญหมีแพนด้าของจีนทราบแล้ว
ขณะที่ นายสัตวแพทย์บริพัตร เปิดเผยว่า การตรวจหาตัวอ่อนด้วยการอัลตราซาวนด์ “หลินฮุ่ย” ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เห็นภาพของตัวอ่อนอย่างชัดเจนก่อนที่จะคลอดลูก ต่างจากครั้ง “หลินปิง” ที่ไม่เห็นภาพอะไรเลยจนกระทั่งคลอด แต่ยังไม่เห็นการเต้นของหัวใจตัวอ่อนเท่านั้น
เบื้องต้นพบตัวอ่อนเพียงตัวเดียว แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะเป็นแฝด โดยต้องรอผลการตรวจอีกครั้ง ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญ และทีมงานสัตวแพทย์ได้เฝ้าดูแล และติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา พร้อมที่จะทำการคลอดทุกเวลา เพราะตามปกติแล้วหมีแพนด้าไม่มีช่วงเวลาการตั้งท้อง และคลอดลูกที่ชัดเจน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการตั้งครรภ์นั้น ยอมรับว่าเป็นธรรมชาติของสัตว์ทุกชนิดที่มีความเสี่ยง เบื้องต้นได้ควบคุมความเสี่ยงต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยการดูแลความสะอาด และป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งในช่วงปลายของการตั้งครรภ์ได้