นครสวรรค์ - ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ยกคณะลงพื้นที่จุดสร้างเขื่อนแม่วงก์ ตั้งโต๊ะรับฟังข้อมูลคนหนุน-ต้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายขวัญชัย พนมขวัญ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมคณะ 16 คน ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ณ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เมื่อเย็นวานนี้ (3 ธ.ค.) มีนายวิรัช จตุพนาพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และตัวแทนกลุ่มที่เห็นด้วย และคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนเข้าร่วมให้ข้อมูล
นายบุญชู พรหมมารักษ์ อดีตกำนันตำบลวังซ่าน อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ให้ข้อมูลว่า ตนอยู่ใน อ.แม่วงก์มาตั้งแต่เด็ก รู้ว่าพื้นที่ป่าตรงไหนมีความอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่ป่าตรงไหนเสื่อมโทรม สมควรที่จะพัฒนาเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ ซึ่งตนขอยืนยันว่าจุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว
ด้านนายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์ เขต 6 พรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ว่า ขณะนี้ข้อมูลที่กลุ่มคัดค้านยกมานำเสนอ เป็นข้อมูลเท็จเหมือนเป็นการแสดงละครหลอกชาวบ้าน ข้อมูลที่ว่าเขื่อนแม่วงก์สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงแค่ 1% ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตนยืนยันว่าเขื่อนแม่วงก์มีประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่มาก ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรมครัวเรือน
“เชื่อว่าพวกที่ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นคนที่อยู่นอกพื้นที่ ไม่ใช่คนในพื้นที่อย่างตนเองที่รู้และเข้าถึงปัญหาของชาวบ้าน”
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เดินทางมาร่วมชี้แจงเพียงคนเดียว คือ นายณรงค์ แรงกสิกร ประธานเครือข่ายแม่วงก์ชุมชนคนรักป่า บ้านเขาแม่กระทู้ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ได้ระบุว่า ตนพยายามออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะเชื่อว่าเขื่อนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้มากอย่างที่ผลการศึกษาฉบับล่าสุดให้ข้อมูลไว้ เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมของคนอำเภอลาดยาวได้จริง หากมีการสร้างจริงก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มงบประมาณที่เสียไป
จากนั้น นายขวัญชัย พนมขวัญ ประธานกรรมาธิการได้พูดสรุปการรับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย โดยบอกว่าครั้งนี้มีข้อมูลด้านสนับสนุนเขื่อนมากกว่าข้อมูลด้านคัดค้านเขื่อน ตนจะนำข้อมูลไปสรุปวิเคราะห์ เพื่อประกอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เขื่อนแม่วงก์ต่อไป