หลังจาก “ASTV ผู้จัดการ” นำเสนอปัญหาการรุกผืนป่าในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์-เลย และพิษณุโลก มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า หากใช้ “เขาค้อ” เป็นจุดศูนย์กลางแล้ว มองไปรอบทิศทาง จิ้มตรงไหน เป็นเจอนายทุน-คนมีสี บุกรุกครอบครองพื้นที่ทั้งสิ้น
...
“เขาค้อ” ยอดภูสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,000 เมตร จากพื้นที่เคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอดีต ปัจจุบันได้ชื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆของเมืองไทย แต่แท้จริงแล้ว เป็นพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยปัญหาการถือครองที่ดินผิดกฎหมาย-การรุกป่ารอบทิศ
กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่า ครั้งละ 30 ปี บนเนื้อที่ 4 แปลงขนาดใหญ่ โดยแปลง 1 และ 2 หมดอายุลงปี พ.ศ.2550 ,พ.ศ.2552 รีสอร์ตหลายแห่งริมถนนนางั่ว-หนองแม่นา และถนนช่องลม-บุ่งน้ำเต้า ถูกเพิกถอน แต่ปัญหาก็ยังเคลียร์ไม่จบจนถึงทุกวันนี้
เพราะหลายแปลง แม้แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็ยังไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว!!
นายมานพ สายอุ่นใจ ป่าไม้อาวุโส หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติที่ 2 (ศปย.)พิษณุโลก เคยนำทหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ปูพรมบุกตรวจจับรีสอร์ตหลายแห่งบนเขาค้อ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แจ้งดำเนินคดีฐานความผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 56 คดี สุดท้ายมีสีเขียวขอเคลียร์คดี “อย่าจับ”
เมื่อหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติที่ 2 (ศปย.) พิษณุโลก ยังเดินหน้าดำเนินคดี กลับเจอคำสั่งผู้ใหญ่ในกรมฯ สั่งตัดเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน แถมถูกเรียกประจำกรมฯ ชนิดไม่มีลายลักษณ์อักษร !!
จนเจ้าตัวไปไม่เป็น .. ส่วนคดีก็ต้องปล่อยค้าง แบบเรียกสอบพยานไปเรื่อยๆ จนหมดอายุความไปเอง
เมื่อ 4 ต.ค.2554 กรมป่าไม้ สนธิกำลังทหารชุดควบคุมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก,
ศูนย์ปฏิบัติการยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติที่ 2 พิษณุโลก,สายตรวจปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ สายที่ 2 ,หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.หลายแห่ง รวมทั้ง จนท.เขตห้ามล่าฯ-จนท.อุทยานแห่งชาติเขาค้อ, นปม.พช ทหารกองพลทหารม้าที่ 1, กอ.รมน. ภาค 3 บุกจับ"รีสอร์ทแทนรักทะเลหมอก"หมู่ 12 บ้านส่งคุ้ม ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ สามารถจับกุมผู้ต้องหา 36 คน ขณะก่อสร้างบ้านพักตากอากาศ
สอบถามถึงเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน กลับพบว่า มีแต่ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5)เท่านั้น
ตรวจสอบพิกัดดาวเทียมพบว่า อยู่ในเขต"ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อและป่าวังชมภู"ชัดเจน ทำให้จนท.ต้องกล่าวโทษผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ มาตรา 14 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์ อยู่อาศัยก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 54 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484ในฐานความผิดเดียวกัน
แต่นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ...คดีไม่คืบ !!
ทั้งระหว่างจับกุมมีทหารหญิงใส่เครื่องแบบสีเขียวมาเจรจาขอเคลียร์
ทั้งนี้บรรดารีสอร์ต 56 แห่งบนเขาค้อนั้น เจ้าของส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะทางสังคมสูงในกรุงเทพฯและเพชรบูรณ์ ถือว่ามีอำนาจ บารมี และมีเงินทุน ทำให้ปัญหาเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้
และปี 2556 นี้ มีพื้นที่ริมถนนบ้านเล่าลือ และเพชรดำ อีกจำนวน 5,625 ไร่ ครบสัญญาเช่า 30 ปีแล้ว กำลังจะเป็นปัญหาที่ทบถมลงไปอีก ขณะที่พื้นที่บริเวณ ต.ริมสีม่วง คือ บ้านเล่าลี่
และบ้านเพชร จะครบสัญญา ปี 2559
นั่นหมายถึงปัญหารูปแบบเดิม ๆ จะเกิดขึ้นอีกอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ส่วนพื้นที่ทิศเหนือของเขาค้อ ซึ่งเป็นป่าธรรมชาติ ต้นน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ บริเวณหมู่ 1 ต.ศิลา อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เขตรอยต่อ จ.เลย แต่พื้นที่บนยอดภูเขาร่วม 5,000 ไร่ กลับถูกนายทุนบุกรุกแผ้วถางเป็นเวิ้ง
ใกล้กันคือ บ้านพร้าว - บ้านห้วยแล้ง ต.นาเกาะ ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า คาบเกี่ยวกับบ้านห้วยปูน ต.น้ำก้อ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ก็ถูกนายทุนบุกรุกเปิดป่าใหม่จำนวน 3,000 ไร่ ทั้งยังมีหลักหมุดที่ดิน โผล่กลางผืนป่า ซึ่งขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับเป็นคดีพิเศษแล้ว เพราะหลักหมุดไปฝังอยู่ในป่าเขตตำบลน้ำก้อ
ส่วนอีกเทือกเขา เป็น"ภูขี้ไก่ 2" เขตบ้านโป่งคาง ต.ท่าอิบุญ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ มีพื้นที่ 1,800 ไร่ ถูกเจ้าหน้าที่บางหน่วยขีดเส้นรังวัดบนโต๊ะ ซอยโฉนดย่อยเป็นแปลงๆละ ไม่เกิน 50 ไร่เรียบร้อยแล้วขายให้นายทุน กระทั่งมีชาวบ้านร้องเรียน เพราะโฉนดนายทุนไปทับที่ทำกิน
ขณะที่ทางด้านตะวันตกของเขาค้อ เขตนิคมสงเคราะห์ชาวเขา แม้จะมีการส่งคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้แล้ว 132,626 ไร่ ต่อมายกให้กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากนั้นประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จำนวน 60,000 ไร่ และกรมอุทยานฯจัดงบประมาณปลูกป่าแล้ว 39,243 ไร่ตามมติ ครม.14 ต.ค.2546 ฟื้นฟูพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำก้อ-น้ำชุน ทำให้ผืนดินที่เหลืออยู่ 70.000 ไร่ ที่ไม่ใช่ทั้งพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานฯ ยังเต็มไปด้วยซับซ้อน และมีราษฎรทำกินอยู่จำนวนมาก เกว่า “ป่า 2484”
ล่าสุด(25 ต.ค.56)นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 (พิษณุโลก) ระดมพล จนท.อนุรักษ์ 260 คน สแกนพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน 1.3 หมื่นไร่ เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ชาวบ้าน 7 หมู่บ้านว่า ทำกินในเขตป่า และอช.เขาค้อ ก่อนหรือหลังประกาศเขต มีจำนวนเท่าใดกันแน่ เพราะพบนายทุนบุกรุกพยามออกโฉนด 2,133 ไร่
วันนี้..การพิสูจน์สุทธิ แล้วเสร็จ รอเพียงอธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งดำเนินการเท่านั้น
ส่วนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ"เขาค้อ" คือ ภูหินร่องกล้า แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังพิษณุโลก ใกล้กับ"ภูทับเบิก"ซึ่งเป็นผืนป่า 2484 ก็มีกลุ่มคนชาวไทยภูเขาทำกินปลูกกะหล่ำปลีจำนวนมาก ซึ่งแถบนี้ถือเป็นพื้นที่ ที่มวลชนพร้อมลุกฮือขึ้นทุกเมื่อ หากถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุม
และเมื่อไล่เรียงมาถึงเขต อ.นครไทย จ.พิษณุโลก พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม ,ป่าสงวน
แห่งชาติป่าเขากระยาง
ทุกวันนี้ ที่ดินแทบไม่มีเอกสารสิทธิ !! แต่นายทุนก็ยังจับจองไว้ทำสวนยางพาราสุดลูกหูลูกตา
กระทั่งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 ขอคืนพื้นที่ ขึ้นป้าย “ประชาอาสาปลูกป่า ณ.บ้านโคกคล้าย ต.บ่อโพธิ์ อ.นครไทย” กลับเจอข้อความ"มึงปลูก มึงตาย"
ขณะที่เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง พบว่า มีราษฎรทำกิน ต้องกันพื้นที่ออกเป็นหย่อมๆ มีทั้งซื้อเปลี่ยนมือ และใช้ ม.22 พ.ร.บ.อุทยานฯยึดคืน
ส่วนที่ “น้ำหนาว” ด้านตะวันออกของเขาค้อ ทำเลทองแหล่งท่องเที่ยว ถือเป็นป่าสงวนทั้งหมด โดยรัฐพิสูจน์สิทธิ์แล้ว แต่ก็ตอบไม่ชัดว่า จะให้เอกสารสิทธิกับชาวบ้านหรือไม่ ทำให้ต้องอยู่กันไปแบบผิดๆถูกๆมาโดยตลอด
เท่าที่ไล่เรียงมา จะพบว่า รอบ “เขาค้อ” ล้วนมีกลุ่มนายทุน และ คนมีสี ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์แทบทั้งสิ้น