ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรง และเกิดสภาวะแห้งแล้งขั้นวิกฤต มวลมนุษยชาติได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน
องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย โดยให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าช่วยกันปกป้องรักษาและฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของชาติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ
ที้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แด่พระองค์ท่าน ที่ทรงมีคุณูปการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จึงได้ริเริ่มโครงการ “อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” ณ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางละมุง (เขาไผ่) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
รวมทั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนความอุดมสมบรูณ์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และต้นไม้ในท้องถิ่นชุมชน ปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้พนักงาน คณะครู นักเรียน และชุมชนใกล้เคียงได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายดอน ทยาทาน กรรมการผู้จัดการ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เข้าสู่ปีที่ 4 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (ระยะเวลาโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2562) โดยมีหลายๆ หน่วยงานเข้าร่วม อาทิ ข้าราชการ พนักงานเทศบาลตำบลโป่ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัครจากสมาชิกชมรมวิทยุสมัครเล่นนาป่าสัมพันธ์ และ อาสาสมัครจากสมาชิกสมรมคนสร้างป่า นิสิตมหาวิทยาลัยบางเขน คณะครู และนักเรียนโรงเรียนวัดโป่ง โรงเรียนบ้านอำเภอ
วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อีเทค) วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ตัวแทนจากบริษัท อิสเทิร์นไทย คอนซัลติ้ง 1992 พนักงานไทยโปโลคลับ พนักงานกลุ่ม บี.กริม และพนักงานกลุ่มอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำนวน 500 คน ร่วมกันปลูกป่าจำนวน 4,000 ต้น ประกอบด้วยพันธุ์กล้าไม้มากว่า 10 ชนิด ได้แก่ มะค่า ยางนา อินทนิล ยมหอม กระถินเทพา มะม่วงป่า พยุง คูณ สะแก ชิงชัน มะตูม มะฮอกกะนี สะเดา และขี้เหล็ก ซึ่งพันธ์กล้าไม้เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้
การที่ป่าไม้ของประเทศจะสามารถเติบโตและคงอยู่อย่างยั่งยืนนั้น หัวใจสำคัญคือ ความร่วมมือ ร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่จะร่วมผนึกกำลัง ร่วมกันดูแลพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าที่ปลูก โดยการดูแลบำรุง รักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน